คู่มือการดำรงชีพในสหราชอาณาจักร

อยู่อย่างไรในประเทศอังกฤษ เพื่อการเรียนรู้ และสั่งสมประสบการณ์ชีวิต อย่างเหมาะสม สนุกสนาน และมีคุณค่า

1. ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประเทศอังกฤษ

     อังกฤษ หรือ สหราชอาณาจักร มีชื่อเรียกแบบเต็มว่า The United Kingdom of Great Britain and Norther Island ซึ่งมักเรียกกันในชื่ออื่นอีกว่า The United Kingdom, U.K., Great Britain หรือ Britain

     สหราชอาณาจักร มีพื้นที่ทั้งหมด 243,610 ตารางกิโลเมตร ซึ่งประกอบไปด้วย ประเทศอังกฤษ (England), สก๊อตแลนด์ (Scotland), เวลส์ (Wales) และไอร์แลนด์เหนือ (Northern Ireland) โดยทิศเหนือจรดมหาสมุทรแอตแลนติก (Atlantic Ocean) ทิศตะวันออกจรดทะเลเหนือ (์North Sea) ทิศใต้จรดช่องแคบอังกฤษ (English Channel) และทิศตะวันตกจรดทะเลไอริช (Irish Sea) มีประชากรทั้งหมดประมาณ 62 ล้านคน เป็นชาวอังกฤษ 84 % ชาวสก๊อต 8 % ชาวเวลส์ 5 % และชาวไอร์แลนด์เหนือ 3 % แต่หากแบ่งตามเชื้อชาติสามารถแบ่งได้เป็น คนฝรั่งผิวขาว 92 % คนเอเชียใต้ (อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ ฯ) 4 % คนผิวดำ 2 % คนเชื้อชาติผสม 1.2 % คนจีน 0.4 % และอื่น ๆ (เอเชียตะวันออก อาหรับ ลาตินอเมริกา ฯลฯ) 0.4 % สหราชอาณาจักรปกครองโดยระบบประชาธิปไตยโดยมีสมเด็จพระนางเจ้าอลิชาเบ็ธที่ 2 ทรางเป็นองค์พระประมุข ซึ่งแม้ว่าสก๊อตแลนดื เวลส์ หรือไอร์แลนด์เหนือ จะมีระบบการปกครองเป็นของตนเอง แต่โดยรวมสหราชอาณาจักรก็ยังมีการบริหารจากส่วนกลางคือจากรัฐสภาที่ Westminster ในกรุงลอนดอน

     ประเทศอังกฤษ (England) มีพื้นที่ 130,395 ตารางกิโลเมตร มีเมืองหลวงคือ กรุงลอนดอน (London) ภาษาราชการคือ ภาษาอังกฤษ (English) จำนวนประชากร 51.5 ล้านคน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ (Church of England)

     สก๊อตแลนด์ (Scotland) มีพื้นที่ 78,772 ตารางกิโลเมตร มีเมืองหลวงคือ เอดินเบอระ (Edinburgh) (แต่เมืองที่ใหญ่ที่สุดของสก๊อตแลนด์คือ กลาสโกว (Glasgow) จำนวนประชากร 5.2 ล้านคน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ (Church of Scotland, The Kirk)

     เวลส์ (Wales, Cymru) มีพื้นที่ 20,779 ตารางกิโลเมตร มีเมืองหลวงคือ คาร์ดิฟ (Cardiff) ภาษาราชการ คือ ภาษาเวลช์ (Welsh) และภาษาอังกฤษ (English) จำนวนประชากร 3 ล้านคน ส่วนใหญ่นับถือศาสนา Anglican, Baptist

     ไอรแลนด์เหนือ (Northern Ireland) มีพื้นที่ 13,843 ตารางกิโลเมตร มีเมืองหลวง เบลฟัส (Belfast) ภาษาราชการคือ ภาษาอังกฤษ (English), ภาษาไอริช (Irish) และภาษาอัลสเทอร์ สก๊อต (Ulster Scots) จำนวนประชากร 1.8 ล้านคน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ Protestants and Anglican

     ฤดูกาลในประเทศอังกฤษประกอบด้วย 4 ฤดู ได้แก่ ฤดูใบไม้ผลิ(Spring) ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม  ฤดูร้อน(Summer) ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม ฤดูใบไม้ร่วง(Autumn) ในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน และฤดูหนาว(Winter) ในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี

     ประเทศอังกฤษมีชื่อในเรื่องของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย ฝนตกชุก มีวันฝนตกอยู่เกินกว่าครึ่งปีในแต่ละปี และอากาศในอังกฤษในแต่ละวันก็เป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดา ดังนั้นเมื่อออกนอกบ้าน ผู้คนที่นี่จึงมักจะเตรียมพร้อมในเรื่องของร่ม เสื้อผ้า กันฝน กันลม กันหนาว ติดตัวตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นฤดูกาลใด ถ้าต้องการตรวจสอบสภาพอากาศในแต่ละวัน สามารถดูได้ข่าวตอนเช้าในโทรทัศน์หรือเช็คข้อมูลจากเว็บไซต์(พิมพ์หาคำว่า BBC Weather) เป็นต้น

     เมื่อพูดถึงเรื่องของ เวลา หลายคนคงสังเกตตอนที่ดูเวลาของประเทศต่างๆ แล้วก็มักจะเห็นคำว่า GMT อยู่เสมอ GMT คืออะไร? GMT ย่อจากคำว่าเวลากรีนิช (Greenwich Mean หรือ Meridian Time) ที่ถือว่า เวลาเริ่มนับจากตำแหน่ง ณ ศูนย์สังเกตการณ์ Royal Observatory ที่เมืองกรีนิช ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงลอนดอน ดังนั้น ประเทศอังกฤษจึงมีเวลา GMT+0:00 คืออยู่บนเส้นแวง (Longitude) ที่ 0 และประเทศที่อยู่เลยไปทางทิศตะวันออกของเส้นแวงเช่น ประเทศในทวีปยุโรปและเอเชียก็จะมีเวลาที่เร็วกว่าอังกฤษ ส่วนประเทศที่อยู่ทางตะวันตกของเส้นแวงเช่นในทวีปอเมริกาเหนือและใต้ก็จะมีเวลาช้ากว่าอังกฤษ ดังนั้น ประเทศไทยตั้งอยู่บน GMT + 7:00 หมายความว่า เวลาในประเทศไทยขณะนี้เร็วกว่าเวลาของประเทศอังกฤษอยู่ 7 ชั่วโมง

     การเปลี่ยนเวลา ประเทศอังกฤษมีการหมุนเข็มนาฬิกาปรับไปปรับมาอยู่ 2 ครั้งในรอบหนึ่งปี เพื่อถือเป็นการชดเชยกับสภาพเวลาพระอาทิตย์ขึ้นและตกในแต่ละช่วงฤดูกาล ช่วงย่างเข้าฤดูร้อน (British Summer Time, BST) ที่พระอาทิตย์เริ่มตกช้าลงไปในแต่ละวัน(บางวันกว่าจะตกก็เป็นเวลากว่า 3 ทุ่ม) ในเช้ามืดของวันอาทิตย์หนึ่งของเดือนมีนาคม (เที่ยงคืนของวันเสาร์) รัฐบาลจะประกาศให้ทุกคนปรับหมุนเข็มนาฬิกาของตนไปข้างหน้า 1 ชั่วโมง และให้ใช้เวลาดังกล่าวเรื่อยไปจนถึงวันอาทิตย์หนึ่งในช่วงเดือนตุลาคม(เที่ยงคืนวันเสาร์) ที่พระอาทิตย์เริ่มตกเร็วขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วง จึงประกาศให้ทุกคนหมุนเข็มนาฬิกาย้อนกลับมา 1 ชั่วโมง ให้มาอยู่ที่เดิม เช่น ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2552 เรื่อยมาจนถึงต้นเดือนมีนาคม 2553 เวลาอังกฤษจะช้ากว่าเวลาในไทยอยู่ 7 ชั่วโมง (อังกฤษเก้าโมงเช้าเป็นเวลาไทยบ่ายสี่โมง)แต่ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม ไปจนถึง 31 ตุลาคม ที่มีการปรับหมุนเข็มนาฬิกาไปข้างหน้า 1 ชั่วโมง จะทำให้เวลาในอังกฤษช้ากว่าเวลาไทยเพียง 6 ชั่วโมง (อังกฤษเก้าโมงเช้าเป็นเวลาไทยบ่ายสามโมง)

     

 

     แม้ อังกฤษ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ จะมีระบบการศึกษาใกล้เคียงกัน แต่ระบบการศึกษาของสก็อตแลนด์จะแตกต่างออกไป ในที่นี้จะขอกล่าวถึงการศึกษาในประเทศอังกฤษเท่านั้น ที่อังกฤษนี้ เด็กทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 5 ถึง 16 ปี จะต้องไปโรงเรียน โดยโรงเรียนรัฐบาล (public school) จะให้เรียนฟรี แต่ โรงเรียนเอกชน (Independent School) จะต้องเสียค่าเล่าเรียน หลังจากอายุ 16 ปี นักเรียนสามารถเลือกได้ว่าจะศึกษาต่อไปอีก 2 ปี (ชั้น Sixth Form) เพื่อได้ A-Level Qualification สำหรับเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยหรือไม่ (แต่กฏหมายใหม่ของอังกฤษจะค่อยๆ เปลี่ยนให้เด็กต้องไปโรงเรียนจนถึงอายุ 18 ปี) ในปัจจุบันนอกจากจะศึกษาในระดับ A-Level แล้ว ยังมีการศึกษาแบบอื่นๆ ให้เลือก เช่น GNVQ (General National Vocational Qualification) ซึ่งเป็นทางสายอาชีพ เช่น Engineering, Health Social Care, Leisure & Tourism เป็นต้น หรือ IBDP (International Baccalaureate Diploma Programme) ซึ่งเป็นหลักสูตร 2 ปี สำหรับนักเรียนอายุ 16 – 19 ปี เพื่อให้ได้รับ ประกาศนียบัตรที่เป็นที่ยอมรับจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วโลก ในการใช้พิจารณารับเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย โดยนักเรียนสามารถเลือกเรียนด้วยภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน ภาษาใดภาษาหนึ่ง

     หลักสูตรการศึกษาหลักของอังกฤษ (National Curriculum) ที่เป็นหลักสูตรบังคับ ประกอบไปด้วยวิชาหลัก 3 วิชาคือ English, Mathematics และ Science และวิชาทั่วไป 9 วิชาได้แก่ Art & Design, Citizenship, Design & Technology, Geography, History, Information & Communication Technology, Modern Foreign, Music, Physical Education นักเรียนจะเรียนจบหลักสูตรบังคับ (Year 11, Key stage 4) เมื่ออายุ 15-16 ปี จะต้องสอบ GCSE จากนั้นถ้าต้องการศึกษาต่อก็สามารถเลือกได้ว่าจะศึกษาต่อใน Sixth form หรือ A-Level ของโรงเรียน Sixth form College หรือศึกษาสายวิชาชีพ (ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีอายุเกิน 18 ปีก็สามารถเรียนในระดับนี้ได้) และเมื่อภายหลังจากจบในระดับ Sixth form แล้ว ถ้าคะแนนสอบของ A-Level ดี ก็สามารถเลือกเรียนในคณะและมหาวิทยาลัยที่เลือกได้

     เราสามารถเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ในประเทศอังกฤษด้วยเครื่องบิน รถยนต์ รถไฟ รถโดยสารประจำทาง หรือรถแท็กซี่ได้อย่างสะดวกสบาย การซื้อตั๋วสามารถซื้อ On-line จากอินเทอร์เน็ต หรือซื้อที่สถานี การซื้อตั๋วล่วงหน้าหรือถ้าสามารถซื้อตั๋วนักเรียนได้ก็จะยิ่งประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น การเดินทางโดยทางรถยนต์ ถนนของอังกฤษแบ่งออกเป็น ถนน M (Motorway) ถนน A และ ถนน B ถนนมอเตอร์เวย์ คือ ถนนทางด่วนระหว่างเมือง ห้ามคนเดิน ห้ามหัดขับรถ ห้ามรถจักรยาน ห้ามรถอีแต๋นหรือแทรกเตอร์ทางการเกษตรใช้เป็นเส้นทางขับขี่ ถนนมอเตอร์เวย์ แม้จะขับกันด้วยความเร็วแต่จัดว่าเป็นถนนที่ปลอดภัย ถนน A และถนน B เป็นเส้นทางเชื่อมเมืองและหมู่บ้าน ถนนA ใหญ่และขับได้เร็วกว่าถนนB การขับรถในอังกฤษต้องมีใบขับขี่อังกฤษ ส่วนใบขับขี่สากลสามารถใช้ได้ 1 ปีแต่ค่าประกันจะแพงกว่า

     การเดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง(National Express หรือบริษัทเดินรถอื่น) 

     ตั๋วโดยสารสามารถซื้อได้แบบ On-line หรือซื้อได้ที่เคาน์เตอร์ขายตั๋วในสถานี รถโดยสารที่วิ่งระหว่างเมืองจะมีราคาถูกและส่วนใหญ่จะมีการลดราคาถ้าซื้อตั๋วล่วงหน้าหรือซื้อในแบบ On-line

    สำหรับการขึ้นรถประจำทางในเมืองที่อยู่ นักเรียนจะต้องเตรียมเหรียญให้ตรงกับอัตราค่าโดยสาร เพราะบางครั้งพนักงานขับรถอาจไม่มีเงินทอนให้ ทำให้เราไม่สามารถขึ้นรถไปได้

     การเดินทางโดยทางรถไฟ (British Rail, Intercity) 

     เส้นทางรถไฟในอังกฤษมีเครือข่ายการเดินทางที่กว้างขวาง ซึ่งในปัจจุบันการ เดินทางไปในเส้นทางทิศเหนือหรือใต้ อาจดูสะดวกสบายกว่าการเดินทางในทิศตะวันออกหรือตะวันตก ซึ่งเช่นเดียวกับการซื้อตั๋วรถโดยสารประจำทาง เราสามารถซื้อตั๋วโดยสารรถไฟได้ในแบบ On-line หรือ ซื้อตรงที่สถานี ซึ่งจะมีทั้งเคาน์เตอร์ขายตั๋วหรือตู้ขายตั๋วอัตโนมัติให้

     การซื้อตั๋วที่ตู้อัตโนมัติ เป็นวิธีที่รวดเร็วเพราะไม่ต้องรอคิว(ปกติเครื่องจะว่าง) ต้องทำตามขั้นตอนที่ระบุไว้แต่ละเครื่อง โดยทั่วไปจะเริ่มที่เครื่องจะถามข้อมูล จำนวนคน (ผู้ใหญ่-เด็ก), สถานีปลายทาง, ชนิดของตั๋ว (เที่ยวเดียว-single, ไปกลับ-return, ตั๋วหนึ่งวัน-travel day card)   การจ่ายเงิน สามารถหยอดเหรียญหรือเสียบธนบัตร ซึ่งเครื่องจะทอนเงินในช่องที่เขียนว่า “Change” จากนั้นตั๋วจะถูกพิมพ์และออกมาจากช่องรับตั๋ว ในกรณีที่มีปัญหา สามารถขอความช่วยเหลือได้จากพนักงานที่เคาน์เตอร์ Assistance หรือ กดยกเลิก Cancel ซึ่งเครื่องควรจะคืนเงินให้ถ้าใส่เงินไปแล้ว กรณีซื้อตั๋วผิด เราสามารถคืนตั๋วที่ยังไม่ได้ใช้ ที่เคาน์เตอร์ขายตั๋ว หรือที่ เคาน์เตอร์ Assistance ได้

     การเดินทางท่องเที่ยวในกรุงลอนดอน 

      บัตร Oyster Card เป็นบัตรโดยสารแบบเติมเงินที่ใช้สำหรับการเดินทางด้วย รถไฟใต้ดิน (Tube)  รถเมล์ รถราง การใช้ Oyster Card จะช่วยลดราคาค่าเดินทางได้กว่าครึ่งเมื่อเทียบกับการซื้อตั๋วโดยสารด้วยเงินสด Oyster Card สามารถซื้อได้ที่สถานีรถไฟใต้ดินทุกสถานี โดยจะต้องเสียค่ามัดจำบัตร (Deposit) £5  และนักเรียนสามารถเติมเงินได้ตามจำนวนที่ต้องการโดยเติมกับพนักงานขายตั๋วรถไฟหรือเติมที่เครื่องขายตั๋วเครื่องที่เขียน  ว่า Oyster Top Up  ถ้านักเรียนต้องการคืนบัตร Oyster ก็จะได้รับค่ามัดจำบัตร £5 และเงินที่เหลืออยู่ในบัตรคืน (สำหรับนักเรียน ควรแจ้งด้วยว่าเป็นนักเรียนและแจ้งอายุ อาจต้องเตรียมสำเนาพาสปอร์ต หรือสำเนาเอกสารจากทางโรงเรียนติดตัวไปด้วย เวลาที่ซื้อตั๋วครั้งแรก เพราะจะสามารถซื้อบัตร Oyster ของนักเรียน ซึ่งจะช่วยประหยัดได้มากขึ้น)

     ส่วนนักเรียนที่ไม่ได้อยู่ในลอนดอน ถ้าต้องการมาเที่ยวลอนดอน แบบชั่วคราว อาจซื้อตั๋วแบบ Day Travelcard ซึ่งสามารถขึ้นได้ทั้งรถไฟ ใต้ดิน รถเมล์ และรถไฟบนดิน ได้ในเขตกรุงลอนดอน ทั้งนี้ควรวางแผนการท่องเที่ยวก่อนเพราะราคาของบัตรจะต่างกันไปขึ้นอยู่กับเขตหรือโซนที่ต้องการเดินทาง เวลาที่จะใช้ Travelcard ได้ต้องใช้หลังจาก 09.30 น. ในวันธรรมดา และใช้ได้ในวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดธนาคาร ยกเว้นรถเมล์กลางคืน

    สรุปข้อแนะนำเพื่อที่จะให้นักเรียนซื้อตั๋วโดยสารต่างๆ ได้ถูกลง

     1. ซื้อตั๋วที่เคาน์เตอร์ขายตั๋ว โดยแสดงบัตรนักเรียน ควรมีเอกสารเช่น สำเนา copy ของ Passport หรือเอกสารจากทางโรงเรียนติดตัว กรณีที่ที่อาจต้องใช้แสดงตนว่าเป็นนักเรียน

     2. ซื้อตั๋วไป-กลับ (return trip) ในครั้งเดียวกัน จะถูกกว่าแยกซื้อตั๋วเดี่ยว (single trip)

     3. ซื้อตั๋วล่วงหน้า (Early Bird)

     4. ซื้อตั๋วแบบ  Day Travel card

     ในอดีตร้านค้าต่างๆ ในอังกฤษ จะปิดทำการเร็วมากและจะปิดขายของในวันอาทิตย์เพราะถือเป็นวันพักผ่อนวันครอบครัว แต่ในปัจจุบันร้านค้าส่วนใหญ่จะเลื่อนเวลาปิดไปเป็นหนึ่งถึงสองทุ่ม หรืออาจช้ากว่านั้น แต่ก็มักไม่เกินสี่ทุ่มในคืนวันเสาร์ แต่สำหรับวันอาทิตย์ร้านค้าจะเปิดขายของช้าประมาณสิบเอ็ดโมงหรือเที่ยงและจะปิดเร็วคือสี่หรือห้าโมงเย็น

     ในทุกเมืองหรือถนนสายธุรกิจของเมืองต่างๆ มักจะมีถนนที่มีร้านค้าหลากหลายเรียงรายกันอยู่ซึ่งจะเรียกเหมือนๆ กันว่า High Street (ถ้าเป็นชุมชนไม่ใหญ่) หรือ Town Centre (ถ้าเป็นชุมชนเมืองที่ขนาดใหญ่ขึ้น) ที่โดยปกติร้านค้าจะเปิดประมาณเก้าโมงเช้าจนถึงหกโมงเย็น แต่ก็จะมีวันที่ร้านค้าปิดช้าจนสองถึงสามสี่ทุ่ม เรียกว่า “late night shopping”

     นอกจากร้านค้าตาม high street หรือ town centre ในอังกฤษก็จะมีแหล่งร้านค้าใหญ่นอกชานเมือง เรียกว่า “Retail Park” ซึ่งจะเป็นที่รวมร้านค้าใหญ่ ๆ ในลักษณะ warehouse เข้าไว้อยู่ด้วยกัน ซึ่งมักจะมี supermarket หรือปั้มน้ำมันอยู่ด้วย

     เงินตรา

     สกุลเงินของประเทศอังกฤษ คือ พาวนด์สเตอริงค์ (£, Pound sterling) หรือ เงินปอนด์ที่เรียกกันด้วยสำเนียงไทย ธนบัตรของอังกฤษ มีประเภท £50, £20, £10, £5 ส่วนเหรียญ มีตั้งแต่ £2, £1, 50p (Penceเพ็นซ์) 20p, 10p, 5p และ 1p ร้านค้าในอังกฤษส่วนใหญ่ไม่รับเงินสกุลยูโร ยกเว้นห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ เช่น Harrods เป็นต้น อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา อยู่ที่ประมาณ £1 = 45.90 บาท (อัตราเปลี่ยนแปลงทุกวัน)

     ในการใช้บัตรเครดิตเพื่อซื้อสินค้า ปัจจุบันร้านค้าส่วนใหญ่ในประเทศอังกฤษจะเปลี่ยนไปใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ให้ผู้ถือบัตรเครดิตป้อนรหัสส่วนตัว (Password) เข้าไปกับเครื่องเพื่อยืนยันการซื้อขาย แทนการเซ็นต์ชื่อในใบสลิป การซื้อขายแบบเมืองไทย ดังนั้น หากจะใช้บัตรเครดิตในการซื้อสินค้า ต้องสอบถามพนักงานของร้านค้านั้นก่อน ว่ารับบัตรเครดิตที่ใช้วิธีการเซ็นต์ชื่อลงในสลิปได้หรือไม่

     ควรระลึกเสมอว่าเงินปอนด์แพงกว่าเงินบาทมาก (1 ปอนด์ ประมาณ 45.90 บาท) นักเรียนควรใช้อย่างระมัดระวัง

     ว่าด้วยความปลอดภัย

     โดยปกติอังกฤษเป็นประเทศที่ปลอดภัย แต่ด้วยการที่มีคนต่างชาติจากประเทศในยุโรปตะวันออกที่ยากจนเข้ามาอาศัยอยู่จำนวนมาก ตามเงื่อนไขการรวมกลุ่มประเทศ European Union รวมถึงสภาวะทางเศรษฐกิจที่ไม่ดี มีผู้ตกงานมาก จึงทำให้เกิดปัญหาการลักเล็กขโมยน้อย ฉกชิงวิ่งราวอยู่อย่างมาก จึงขอให้นักเรียนช่วยกันระมัดระวังตัว เวลาที่ยืนเบียดเสียดผู้คน บนถนน ร้านรวง หรือบนรถไฟ รถโดยสารสาธารณะ ต้องระวังการล้วงกระเป๋า ถ้าจะถ่ายรูป หรือหยิบของในกระเป๋า ควรปิดกระเป๋าให้เรียบร้อยก่อน อย่าวางกระเป๋าทิ้งไว้หรือเปิดกระเป๋าทิ้งอ้าไว้หรือใส่ของประดับดูมีค่าล่อตาล่อใจมิจฉาชีพ ควรสะพายกระเป๋าไว้หน้าตัว นอกจากนี้ ขอให้หลีกเลี่ยงการเดินในที่เปลี่ยว ไม่ควรเดินไปเที่ยวไหนหรือกลับบ้านดึกเพียงลำพัง ขอให้ตระหนักว่า การไปกลับระหว่างบ้านและโรงเรียน โดยทั่วไปจะไม่มีรถรับส่ง นักเรียนจะต้องเดินเท้าหรือขึ้นรถประจำทางเอง

     ไม่ควรพกเงินติดตัวคราวละมากๆ เพราะอาจทำหาย หรือถูกขโมย หากมีความจำเป็นต้องพกเงิน ควรแยกเก็บไว้หลายที่ ควรเก็บเงินหรือของมีค่าไว้ในที่ที่ปลอดภัย เช่นฝากเงินและสิ่งของมีค่าไว้กับผู้ที่ไว้ใจได้ เช่น  Host Family ครูที่โรงเรียนกำหนดไว้ให้เป็นผู้ดูแล โดยทุกครั้งที่มีการฝากเงินหรือขอเบิกเงินต้องมีการขอหลักฐานการรับฝากหรือถอนเพื่อการอ้างอิงทุกครั้ง

     อื่นๆ ทั่วไป : ระบบไฟฟ้า

     ระบบไฟฟ้าของประเทศไทยมีกำลัง 220 โวลท์ และ 50 เฮิตซ์ ส่วนของประเทศอังกฤษมีกำลังใกล้เคียงกัน คือ 240 โวลท์ และ 50 เฮิตซ์ ดังนั้น เราสามารถนำเครื่องไฟฟ้าจากเมืองไทยมาใช้ที่อังกฤษได้ แต่  อย่างไรก็ตาม ลักษณะของปลั๊กไฟอังกฤษเป็นแบบ 3 ตา ดังนั้นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่นำมาจากเมืองไทยจึงสามารถนำมาใช้ที่ประเทศอังกฤษได้ ถ้ามีตัวปรับปลั๊ก (socket adapter) จากแบบไทย 2 ตา ไปเป็น 3 ตา ถ้าต้องการซื้อ สามารถหาซื้อได้ที่ร้านค้า แผนกเครื่องไฟฟ้า หรือแผนกกระเป๋าเดินทาง

     น้ำหนักและมาตรวัด

     ในประเทศอังกฤษ ระบบเมตริกและระบบอิมพีเรียลยังใช้ร่วมกันอยู่ เช่น นิ้ว เซนติเมตร ฟุต หลา หรือ เมตร หรือ ไมล์  เบียร์จะวัดเป็น ไพนท์ (1 ไพนท์ = 0.568 ลิตร) น้ำมันวัดเป็นทั้งแกลลอนและลิตร (1แกลลอน = 4.55 ลิตร = 1.2 แกลลอนสหรัฐ)

2. มารยาทสังคม และการวางตัว

     เมื่อแรกพบ

     ในขณะที่คนไทยใช้การไหว้ คนอังกฤษ เมื่อพบกัน จะใช้วิธียื่นมือขวาจับกันและเขย่าเล็กน้อย (Shake hand) ผู้ชายจับมือผู้ชาย จะบีบมือและเขย่าหนักแน่น ส่วนผู้หญิงกับผู้หญิง หรือ ผู้ชายกับผู้หญิง จะจับมือกันแบบเบาๆ เขย่าน้อยครั้ง ขณะจับมือควรจะพูดว่า “How do you do หรือ Nice (Please) to meet you, my name is…” และอีกฝ่ายหนึ่งควรจะพูดตอบเช่นเดียวกัน (คนที่มีอายุน้อยกว่าควรจะเป็นผู้พูดก่อน) ต่อจากนั้นก็ควรจะเริ่มบทสนทนาโดยคุยเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนผู้นั้น เช่นหน้าที่การงาน สิ่งที่เขาเรียน สิ่งสวยงามในประเทศของเขา เป็นต้น

     สำหรับเมื่อพบคนที่มีความสนิทสนมกันนานแล้ว ผู้ชายจะ Shake hand และโน้มตัวใกล้กันคล้ายการกอดแบบหลวมๆ และเอามือโอบไหล่กันและกัน ส่วนผู้หญิงกับผู้หญิง หรือผู้หญิงกับผู้ชาย มักจะกอดเบาๆ เอาแก้มซ้ายชนกันก่อนและต่อด้วยการเอาแก้มขวาชนกัน ทำปากเหมือนการจูบอากาศ (Air Kiss) ข้อแนะนำคือ หากเราต้องการหลีกเลี่ยงการกอด เมื่อแรกพบใคร ให้รีบยื่นมือ แสดงความจำนงในการขอจับมือทักทายในทันที

     เริ่มทักทาย สนทนา

     ถ้าคนสองคนมีโอกาสได้มาพบกันได้บ่อยๆ ก็ไม่จำเป็นจะต้องเริ่มต้นการทักทายด้วยการจับมือ แต่สามารถเริ่มต้นพูดคุยทักทายกันได้เลย คนที่อังกฤษชอบที่จะเริ่มบททักทายสนทนาเกี่ยวกับดินฟ้าอากาศ (อย่างที่บอกไว้ว่าอากาศที่นี่เปลี่ยนแปลงบ่อยและมีผลกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนโดยตรง) การทักทายอย่างนี้ที่นี่จึง เป็นเรื่องปกติ ในขณะที่คนไทยอยู่ที่เมืองไทย มักเริ่มบทสนทนาด้วยการถามว่า ทานข้าวมารึยัง จะไปไหน ซึ่งถ้ามาถามที่นี่คนอังกฤษถือเป็นคำถามที่แปลก

     ศิลปในการสร้างบทสนทนาที่สนุกสนานของคนทั่วไป คือ ให้เข้าใจว่า คนส่วนใหญ่จะรู้สึกสบายๆ ที่จะพูดในเรื่องที่ใกล้ตัว เรื่องที่อยู่ในความสนใจ ความถนัด ความชอบ ดังนั้น ถ้าเราเริ่มต้นบทสนทนาจากคำถามในเรื่องที่ใกล้ตัวของเขา เช่น เรื่องครอบครัว สุขภาพ การงาน การเรียน ความสนใจในกีฬา การท่องเที่ยว งานอดิเรก ฯลฯ เหล่านี้นอกจากจะทำเป็นการเริ่มบทสนทนาที่ดีแล้ว ยังทำให้คู่สนทนารู้สึกถึงเป็นกันเองมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม พึงระวังว่า การถามคำถามเหล่านี้ ต้องเป็นไปในลักษณะที่สุภาพ มีความพอดี ไม่เซ้าซี้ ซอกแซก ในลักษณะที่ไม่ทำให้คู่สนทนารู้สึกอึดอัดใจ ลำบากใจที่จะตอบ หรือคิดว่าเราเป็นพวกชอบสอดรู้สอดเห็นเรื่องส่วนตัวของคนอื่น

     นอกจากนี้ ในประเทศอังกฤษ ถึงแม้คนที่เราเห็นหน้ากันบ่อย ๆ แต่ไม่รู้จักกัน เช่นเพื่อนบ้าน หรือคนที่ไม่รู้จักกันแต่เดินผ่านกันแล้วเขามองเรา เราก็สามารถที่จะยิ้มและพูดทักทายกันได้โดยไม่ถือเป็นเรื่องแปลก

     ยามต้องจากลา

     ในการจบบทสนทนาและปลีกตัวไป ทุกครั้งควรใช้คำว่า “Sorry” หรือ “Excuse me” แล้วตามด้วยประโยคเหตุผลของการลาจาก เช่น I have to go… I have to……… จะทำให้บทการลาจาก นุ่มนวล ราบรื่น และจบบทสนทนาด้วย “Nice talking to you.” “See you again.” “Take care.” “Bye bye.” เป็นต้น

     นอกจากนี้  ในเวลาจากกัน อาจพูดคำลา พร้อมกับ Shake hand (ผู้ชายกับผู้ชาย) ถ้าสนิทกันมากอาจจะโอบและตบไหล่ 2-3 ครั้ง หรือโอบกันแล้วแก้มชนแก้ม จูบอากาศ ซ้ายขวา (ผู้หญิงกับผู้หญิง หรือผู้ชายกับผู้หญิง) ถ้าจะไม่ได้พบกันอีกเป็นเวลานาน แต่ว่าหากได้พบกันบ่อยแล้วอาจะพบกันอีก ก็การพูดบอกลาเฉยๆ ก็เพียงพอแล้ว

     ถ้าไม่ทราบว่าควรจะทำอย่างไรแค่ไหน ก็ให้สังเกตกิริยาของคู่สนทนา และก็ปฏิบัติตามเขาอย่างเหมาะสม

     คำสำคัญต่างๆ ที่ควรพูดติดปาก

     ที่อังกฤษ เขาถือเป็นมารยาทในการพูดที่ดี และเขาจะยกย่องให้เกียรติ หากเราประกอบคำพูดในวาระต่างๆ ด้วยคำว่า Please, Thank you, Sorry, Excuse me ฯลฯ “Please” เมื่อต้องการขอความช่วยเหลือ เช่น Can (May) I …, please? “Thank you” เมื่อได้รับความช่วยเหลือ หรือ การพูดประกอบคำขอความช่วยเหลือ เช่น Please, can you…………….. ? Thank you, “I’m sorry” ใช้ได้ในหลายสถานการณ์ เช่น พูดขอโทษเมื่อทำผิด เช่น ชน หรือ เหยียบเท้าคนอื่น หรือเหตุการณ์อื่นๆ ที่ผู้พูดรู้สึกเสียใจที่เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น หรือทำไปโดยที่ไม่ได้คาดว่าผลจะเป็นเช่นนั้น “Excuse me” ใช้เมื่อต้องเรียกร้องขอความสนใจ จะเริ่มต้นถาม ขอร้องคนอื่น เช่น เวลาไปพบคุณครูแล้วคุณครูนั่งอ่านหนังสือ หรือทำงานอยู่ ควรพูดว่า Excuse me, May I ask you a question? May I disturb (interrupt) you? เป็นต้น “Pardon? Say again? Come again?… Please หรือ Sorry?” ใช้เมื่อต้องการให้คุณครู หรือคู่สนทนา พูด/ถาม ซ้ำอีกครั้ง “Bless you” เป็นคำพูดอวยพรให้คู่สนทนาที่ไอหรือจาม ซึ่งเมื่อคนหนึ่งให้พร ผู้ที่ไอหรือจากก็จะกล่าวขอบคุณ Thank you.

     มารยาทบนโต๊ะอาหาร

     ควรทานอาหารด้วยกิริยาสำรวม ไม่มูมมาม พูดคุยที่โต๊ะอาหารได้ คนอังกฤษใช้ส้อมและมีดในการรับประทานอาหาร แทนการใช้ช้อนและส้อมแบบคนไทย คนอังกฤษใช้ช้อนสำหรับตักซุป ในลักษณะตักออกจากตัว ถือส้อมในมือซ้าย ถือมีดในมือขวา (ถ้าถนัดมือซ้ายสามารถกลับข้างได้) ใช้ส้อมจิ้มชิ้นอาหารที่ต้องการตัดและใช้มีดที่ถืออยู่ใช้นิ้วชี้อยู่ข้างบนสันมีดตอนติดด้ามจับ และหั่นอาหารแบบสไลด์เป็นชิ้นเล็กออกไป ใช้ส้อมจิ้มอาหารใส่ปากโดยคว่ำส้อม (การหงายส้อมจิ้มอาหารเข้าปากถือเป็นกิริยาที่ไม่สุภาพนัก) ห้ามใช้มีดจิ้มอาหารใส่ปากเป็นอันขาด ถือว่าไม่มีมารยาท จำเป็นหลักไว้เบื้องต้นว่า บนโต๊ะอาหาร จานวางขนมปังสำหรับเราจะอยู่ด้านซ้ายบน หากมีมีดส้อมเรียงกันอยู่มาก ให้หยิบใช้จากนอกเข้าหาใน (จากจานแรกไปจนจานสุดท้ายที่เสิร์ฟ) ช้อนส้อมมีดเล็กๆที่วางเหนือจานด้านบนใช้สำหรับทานของหวาน จำให้เป็นนิสัยว่า อยู่ที่นี่ ถ้าไม่แน่ใจในเรื่องใด อย่านิ่งไว้ ขอให้ถาม

     การรักษาเวลา

     คนอังกฤษถือว่าการรักษาเวลาเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการให้เกียรติต่อกัน ที่ถือว่าสำคัญมากๆ พอกับการรักษาคำพูด ดังนั้น ในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับครอบครัวชาวอังกฤษ จึงจำเป็นที่จะต้องแจ้งให้ทางครอบครัวทราบล่วงหน้าหากว่าจะกลับช้า เพราะ มีกิจกรรมพิเศษ ไปพบเพื่อน หรือ  ไปซื้อของฯลฯ ถ้าจะมาไม่ทันเวลาอาหารเย็นหรือจะไม่ทานอาหารเย็น ต้องแจ้งให้ครอบครัวทราบล่วงหน้า ถ้าเจ้าของบ้านเตรียมอาหารไว้ให้ และนักเรียนไม่กลับมาทาน จะถือเป็นเรื่องที่เสียมารยาทอย่างมาก ถ้ามีการนัดหมายควรไปให้ตรงเวลา ถ้าไม่สามารถไปได้ตามเวลา ต้องแจ้งให้ผู้ถูกนัดหมายทราบล่วงหน้าในทันที

     การเข้าคิว

     คนอังกฤษจะเข้าคิวและรอคิวอย่างสำรวมและอดทน เช่น รอคิวขึ้นรถเมล์ รถไฟ จ่ายเงินที่ร้านค้า การแซงคิวถือเป็นการเสียมารยาทอย่างมาก เป็นเรื่องที่คนที่ต่อคิวอยู่รับไม่ได้ ถือเป็นการไม่ให้เกียรติ และจะต่อว่าให้ได้อาย ถ้ามีความเร่งรีบอย่างมาก และต้องการขอแซงคิว ก็จะต้องค่อยๆ ร้องขอจากผู้ที่อยู่ข้างหน้าทีละคนไป

     ดังนั้น เวลาเราจะจ่ายเงินซื้อสินค้า ไม่ว่าจะร้านค้าเล็กหรือใหญ่ อย่าลืมการเข้าคิว เมื่อเลือกหาสินค้าที่จะซื้อได้ ให้เดินไปชำระเงินที่แคชเชียร์ โดยมักจะมีป้าย “Cashier”, “Please Pay Here” ชี้ทางไว้ ขอให้ตระหนักไว้เสมอว่า การจ่ายเงินจะต้องเข้าคิว เพราะในประเทศอังกฤษ ผู้คนจะถือว่าเป็นการไร้มารยาทเป็นอย่างมากหากมีใครสักคนลัดหรือแซงคิว หากเราไม่แน่ใจว่าคนข้างหน้าหรือข้างหลังเรากำลังเข้าคิวอยู่หรือไม่ (ซึ่งอาจเป็นเพราะบางร้านไม่ได้จัดที่ยืนไว้ให้แน่นอน) เราก็ควรถามผู้ที่ยืนอยู่ใกล้ๆ ที่จ่ายเงินว่า “Excuse me, are you in the queue?” หรือ “Is this a queue?”

    มารยาททั่วไปในการสนทนา

        – ถ้าไม่รู้ สงสัย ไม่แน่ใจ ขอให้ถาม การถามคำถามที่นี่เป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องไม่น่าอาย การที่ไม่รู้และไม่ถาม ทำให้เกิดข้อผิดพลาดและเสียเวลาจะเป็นเรื่องที่เสียหายและน่าอับอายมากกว่า

        – ไม่พูดภาษาไทยเสียงดังกันต่อหน้าคนอังกฤษ ถือเป็นการเสียมารยาท หากหลีกเลี่ยงไม่ได้และจำเป็นต้องพูด ต้องขออนุญาตก่อน และรวบรัดการสนทนาด้วยภาษาไทยนั้นให้จบลงอย่างสั้นที่สุด และจะเป็นการดี ถ้าได้อธิบายให้คนอังกฤษที่อยู่ในวงสนทนานั้นในทันทีว่า เราได้พูดคุยกันไปในเรื่องอะไรด้วยเรื่องอะไร

        – ไม่ควรตอบการสนทนากับคนอังกฤษด้วยคำสั้นๆ เพียงว่า ‘Yes’ หรือ ‘No’ ขอให้คิดว่า การสนทนาก็เหมือนกับการเล่นเทนนิส ต้องมีการโต้ตอบกัน เขาถามมา เราตอบ จากนั้นเราถามกลับไป ให้เขาตอบกลับมาบ้าง การสนทนาจึงจะออกรส ดังนั้น นักเรียนควรพยายามฝึกการโต้ตอบด้วยการฝึกตั้งคำถามกลับไว้ และก็ไม่ต้องกังวลว่าจะพูดภาษาอังกฤษไม่ถูกต้อง เพราะเราพูดผิด เขาจะช่วยแก้ไขให้เราเอง การพยายามพูดให้มากเข้าไว้ จะช่วยให้ภาษาอังกฤษเราพัฒนาได้เร็วขึ้น อย่าเกรงใจที่จะใช้ ‘Pardon?’ “Sorry?” หรือ ‘Excuse me?’ ถ้าต้องการให้คู่สนทนาทวนประโยค

    ในห้องเรียน

     เป็นเรื่องสำคัญที่นักเรียนต้องเข้าห้องเรียนให้ตรงเวลา ไม่มาสาย ตั้งใจเรียน กล้าพูด กล้าถามในสิ่งที่ไม่เข้าใจ กล้าตอบคำถาม กล้าแสดง  ความคิดเห็น จะทำให้สามารถพูดภาษาอังกฤษได้เร็วขึ้น ดีขึ้น หลักความคิดที่สำคัญคือ ต้องไม่กลัวผิด เพราะผิดเป็นครู หากพูดผิดก็จะทำให้ครูรู้ว่าเราผิดตรงไหน จะได้ช่วยแก้ไข บอกสิ่งที่ถูก ทำให้เราได้พัฒนาและเรียนรู้มากขึ้น

     นอกห้องเรียน

     ที่โรงเรียน จะมีห้องรับแขกหรือสถานที่ที่จัดไว้ให้เข้าไปนั่งพักผ่อน พูดคุยกัน หรือเป็นสถานที่ออกกำลังกาย มีกิจกรรมนันทนาการต่างๆ เหล่านี้ เป็นโอกาสที่จะได้พูดคุยกับเพื่อนต่างชาติ เพื่อฝึกฝนภาษาและเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กันและกันมากขึ้น

     ขอให้ตะหนักว่า นอกจากการเดินทางมาประเทศอังกฤษเพื่อพัฒนาตัวเองด้านการใช้ภาษาอังกฤษแล้ว การมาที่ประเทศอังกฤษ ยังเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เรียนรู้ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมที่หลากหลาย ที่แตกต่างจากของไทยเป็นอย่างมาก ดังนั้น นักเรียนจะควรเปิดใจกว้าง เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ โดยยอมรับความแตกต่าง จะช่วยทำให้นักเรียนปรับตัวปรับใจเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้น ในห้องเรียนภาษาอังกฤษ เป็นแหล่งรวมของนักเรียนต่างชาติต่างภาษา ซึ่งนอกจากจะได้เรียนวัฒนธรรมของอังกฤษแล้วยังสามารถได้เรียนรู้วัฒนธรรมของชาติต่างๆ อีกด้วย

     ที่บ้านพักของครอบครัวคนอังกฤษ หรือหอพักนักเรียน

     นักเรียนไทยที่นี่ส่วนใหญ่มีภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาของคนอังกฤษ ในด้านมีกิริยามารยาทที่เรียบร้อย สุภาพ มีน้ำใจ ดังนั้น นักเรียนควรรักษาชื่อเสียงที่ดีนี้ไว้ อีกทั้งควรประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ เสนอตัวเข้าช่วยเหลือเท่าที่เราจะทำได้ ซึ่งจะทำให้เจ้าของบ้าน เอ็นดู รักใคร่ และทำให้จะได้รับความช่วยเหลือในอนาคตถ้าเกิดปัญหาใดไม่ว่าเล็กหรือใหญ่

      หากนักเรียนมีความจำเป็นต้องไปค้างคืนที่อื่น นักเรียนต้องขออนุญาตจากผู้ปกครองที่เมืองไทย จากครอบครัวที่พักอาศัย และสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนฯ ก่อนในทุกครั้ง

     มารยาทในการใช้ห้องนอน

     อยู่ในห้องนอนเมื่อถึงเวลานอน นักเรียนไม่ควรเก็บตัวอยู่ทั้งวันแต่ในห้องนอน ดังนั้น หากเป็นช่วงเวลาอื่นๆ ที่ไม่ใช่เวลานอนนักเรียนควรลงไปนั่งที่ห้องนั่งเล่นหรือไปร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับสมาชิกของครอบครัวชาวอังกฤษ เช่นร่วมทำงานบ้าน ช่วยทำครัว ร่วมนั่งดูโทรทัศน์ ฯลฯ เรารู้ดีว่า การกระทำดังกล่าว ในช่วงแรกนักเรียนอาจจะรู้สึกอึดอัด ขวยเขิน ไม่คุ้นเคย แต่เราเชื่อว่าสักพักความรู้สึกนี้ก็จะหาย และนักเรียนก็จะคุ้นเคยและเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกในครอบครัวชาวอังกฤษได้มากขึ้น

     บ้านของคนอังกฤษ มีเครื่องทำความร้อน (Heater) ซึ่งจะปิดในเวลานอน (ราวๆ สี่ทุ่ม) และเปิดอีกทีเวลาคนตื่นนอนตอนเช้า เนื่องจากการทำความร้อนราคาแพงและเมื่อเข้านอน เราอยู่ใต้ผ้าห่มจึงไม่จำเป็นต้องเปิดเครื่องทำความร้อนเอาไว้ หากรู้สึกหนาวให้ขอผ้าห่มเพิ่ม แต่ถ้าทนหนาวไม่ไหว ควรขอให้ครอบครัวเจ้าบ้านเปิดเครื่องทำความร้อนให้นานขึ้นอีกนิด

     นักเรียนควรดูแลรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของห้องนอนของตัวเอง จัดที่นอนของตัวเองทุกครั้งหลังจากตื่นนอนตอนเช้า

     มารยาทในการใช้ห้องน้ำ

     ไม่ควรอาบน้ำในช่วงดึกเกินไป เพราะอาจจะเกิดเสียงรบกวนคนในบ้าน โดยเฉพาะหากเป็นบ้านขนาดเล็ก หรือบ้านที่มีเด็กเล็ก

     ทุกครั้งหลังใช้ห้องน้ำ ควรดูแลความสะอาดเพื่อให้เป็นมารยาทที่ดีสำหรับคนที่จะใช้ห้องน้ำถัดไป เช่นเด็กผู้ชาย ควรยกที่นั่งชักโครกขึ้นเมื่อจะปัสสาวะและทำความสะอาดก่อนออกจากห้องน้ำทุกครั้ง

     ทุกครั้งที่อาบน้ำ ต้องระมัดระวังไม่ให้น้ำหกหรือกระเด็นออกไปนอกลงพื้นห้องน้ำในส่วนที่ไม่ใช่เป็นส่วนที่อาบน้ำ ทำความสะอาดพื้นห้องน้ำส่วนดังกล่าวให้ดูเป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อคนอื่นที่เข้าห้องน้ำถัดจากนักเรียนจะได้ไม่รู้สึกอึดอัดขยะแขยง

     มารยาทในการรับประทานอาหาร

     ควรพยายามทดลองทานอาหารที่ครอบครัวจัดให้ทุกๆ อย่าง หากรสชาติไม่ถูกปากนัก สามารถขอเติมเกลือ พริกไทย ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก เพิ่มได้ แต่ อาหารที่ทานจะถูกปากหรือไม่อย่างไร โดยมารยาท ต้องปากหวานเข้าไว้ ชมว่าดี (umm, this is good, nice) อร่อย (delicious) เพราะผู้ที่จัดเตรียมอาหาร ก็มีความตั้งใจทำให้เราทาน คำชมจากผู้ทานจึงเป็นสิ่งที่ดีแทนคำขอบคุณ อิ่มแล้ว ให้พูดว่า I’m full, thank you หากจะรับประทานขนมหรืออาหารที่เจ้าของบ้านวางเอาไว้ ควรขออนุญาตก่อนทุกครั้ง (May I …, please?)

     ควรมาร่วมโต๊ะอาหารเย็นให้ตรงเวลา และควรแจ้งให้เจ้าของบ้านทราบล่วงหน้าทุกครั้ง หากไม่ทานอาหารเย็น หรือหากต้องการรับประทานก่อนหรือหลังเวลาอาหาร เนื่องจากบางครั้งบางโรงเรียนจะจัดกิจกรรมในช่วงเย็นหลังเลิกเรียน

     บอกให้เจ้าของบ้านทราบล่วงหน้าได้ หากไม่สามารถรับประทานอาหารบางชนิด เช่น แพ้อาหารบางอย่าง (I’m allergic to …)

     มารยาทในการใช้โทรศัพท์

     สำหรับนักเรียนที่พักอยู่กับครอบครัว Host Family ไม่แนะนำให้ใช้โทรศัพท์บ้านของ Host Family ถ้าไม่จำเป็น ยกเว้นจะได้รับอนุญาตด้วยความเต็มใจ เพราะค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจะไปรวมอยู่กับบิลค่าโทรศัพท์บ้าน ซึ่งอาจทำให้เป็นภาระของเจ้าของบ้าน จึงแนะนำให้ใช้โทรศัพท์มือถือของนักเรียนเองเพื่อโทรกลับประเทศไทยเพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย

     ไม่ควรใช้โทรศัพท์เป็นเวลานานเกินไปเพราะเป็นการเสียมารยาท และไม่ควรใช้หลัง 4 ทุ่ม

     เราเข้าใจความรู้สึกว่า เวลาอยู่ห่างไกลจากบ้านที่เมืองไทย ทุกคนย่อมต้องคิดถึงบ้าน แต่กระนั้น เราก็อยากจะแนะนำว่า ให้อดทน ฝึกจิตใจตนเอง ให้ไม่โทรกลับเมืองไทยบ่อยๆ เพราะนอกจาก อาจทำให้นักเรียนคิดถึงบ้านเพิ่มมากขึ้นไปอีกแล้ว ยังทำให้ผู้ปกครองทางเมืองไทยเกิดความรู้สึกเป็นห่วงมากขึ้นอีกด้วย เราแนะนำว่า ควรหากิจกรรม งานอดิเรกหลายๆ อย่างทำ และทำร่วมกับคนอื่น เช่นครอบครัวชาวต่างชาติ หรือ เพื่อนนักเรียนต่างชาติ เช่น เล่นกีฬา เล่นดนตรี ท่องเที่ยว หรือพูดคุยกับเพื่อนๆ ซึ่งนอกจากจะช่วยคลายเหงาแล้วยังช่วยให้นักเรียนได้พัฒนาภาษาอังกฤษขึ้นอีกด้วย

3. ข้อควรและมิควรทำ และ FAQs

ข้อควร และไม่ควรทำ สำหรับนักเรียนไทยในประเทศอังกฤษ

ข้อควรทำ

     – ยิ้มเข้าไว้

     – ถามเข้าไว้

     – พูดขอโทษ ขอบคุณ ได้โปรด ให้ติดปาก

     – มีของฝากเล็กๆ น้อยๆ เมื่อไปบ้านคนอื่น หรือคนอื่นชวนไปทานข้าวบ้าน เช่น ดอกไม้ ช็อกโกแลต

     – ถอดหมวกออกเมื่อเข้าบ้านหรือในสถานที่ต่างๆ

     – ปิดปากเมื่อหาวหรือจาม

     – พูด “bless you” ถ้าคู่สนทนาจาม ในทางกลับกัน หากเราเองเป็นผู้จาม และมีผู้อื่นพูด ก็ให้พูดว่า ขอบคุณ

     – พูด Hello, Hi กับเพื่อน พูด Good morning (afternoon, evening) กับเพื่อน ครู ครอบครัวที่พัก

     – พูด Thank You และ Please ให้ติดปาก

     – แจ้งให้เจ้าของบ้านที่นักเรียนไปพักด้วยทราบ หากจะกลับบ้านช้า จะทานหรือไม่ทานอาหารมื้อหนึ่งๆ

     – สละที่นั่ง ให้ทาง กับสตรี เด็ก คนชรา คนพิการ

     – จับประตูให้คนข้างหลัง หรือคนที่สวนทางมา เวลาที่เปิดประตูเข้าหรือออกจากห้อง แสดงถึงมารยาทดีและความมีน้ำใจ

     ข้อไม่ควรทำ

     – ในการเข้าคิวซื้อของหรือทำกิจกรรมใดๆ ห้ามแซงคิวเด็ดขาด เราควรรอคิวอย่างสงบเสงี่ยมและอดทน ถ้ามีความจำเป็นรีบด่วนจริงๆ ให้พูดขออนุญาตลัดคิวกับคนที่ยืนอยู่ก่อนทุกคน

     – ในบทสนทนา ไม่ควรถามเรื่องอายุหรือน้ำหนักของสุภาพสตรี

     – ไม่ควรส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่นในที่สาธารณะ

     – ไม่ควรแคะขี้มูก เรอ ผายลมเสียงดังต่อหน้าผู้อื่น แต่ถ้ากลั้นไว้ไม่ได้จริงๆ ก็ต้องพูดว่า “Excuse me”

     – ไม่ควรจ้องใครอย่างตั้งใจ เพราะถือว่าไม่มีมารยาท

     – ในการทักทายครั้งแรก หากไม่สนิทสนมกัน ไม่ควรทักทายด้วยการโอบไหล่ ชนแก้ม

     – ไม่ควร พูดภาษาไทยกันต่อหน้าคนอังกฤษ หรือคนต่างชาติ เพราะถือว่าเป็นการเสียมารยาท ไม่ให้เกียรติ ไม่ให้ความรู้สึกมีส่วนร่วมหรือเป็นมิตรกับเขา

     – ไม่ควรโต้ตอบการสนทนาสั้นๆ เพียง “Yes” หรือ “No” เพราะจะทำให้คู่สนทนารู้สึกอึดอัด และไม่อยากสนทนาด้วย ทำให้เราขาดโอกาสที่จะฝึกฝนการสนทนา

     – ในการรับประทานอาหาร ห้ามใช้มีดจิ้มอาหารเข้าปาก ถือเป็นการเสียมารยาทอย่างมาก

     ต้องมีการให้ทิป Tip กันในการบริการในร้านอาหารที่อังกฤษ หรือไม่

     -ไม่จำเป็น (ไม่เหมือนกับที่สหรัฐอเมริกาที่ร้านอาหารและบริการต่างๆ จะต้องให้ทิป 10 – 15 % เป็นธรรมเนียมบังคับ) อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันร้านอาหารหลายแห่งในอังกฤษ มักจะรวมค่าทิปหรือค่าบริการ service charge ไว้ในบิลเก็บเงิน โดยคิดค่าบริการอยู่ที่ 12.5% ซึ่งถ้ามีค่าบริการดังกล่าวแล้ว เราก็ไม่ต้องจ่ายค่าทิปเพิ่มอีก อย่างไรก็ตาม หากเป็นร้านเล็กๆ แล้วเขาไม่คิดค่าทิป เราก็ไม่จำเป็นต้องให้ทิป แต่ถ้าอยากจะให้ เราอาจให้เศษเหรียญสตางค์ที่เขาทอนมาหลังจากเราจ่ายให้เขาก็ได้ โดยทิ้งไว้ที่ถาดรับเงินทอน และไม่จำเป็นต้องมากถึง 10 % ให้เท่าไรก็ได้

     สำหรับบริการรถแท็กซี่ ควรให้ค่าทิปด้วย โดยบวกจากอัตราที่มิเตอร์ไปอีก ประมาณ 10% ดังนั้นเมื่อถึงจุดหมายปลายทาง คนขับได้แจ้งว่า ราคาที่หยุดมิเตอร์แล้วคือ 9 ปอนด์ เราก็จ่ายเขาที่ 10 ปอนด์ได้

     การให้ทิปมัคคุเทศก์หรือไกด์ หรือคนขับรถเช่าพาเราไปทัวร์ อาจทิปเขาตามระยะทาง เวลา และความพอใจในการบริการ โดยคิดจาก 1 – 5 ปอนด์ ต่อนักท่องเที่ยวหนึ่งคน

     ถ้าบังเอิญลืมของไว้ระหว่างการเดินทาง จะทำอย่างไร

     ลืมของบนรถไฟ Taxi หรือ bus ติดต่อบริษัทของ Taxi รถไฟ หรือ รถ bus นั้นๆ โดยแจ้งรายละเอียดให้ได้มากที่สุด ถ้าลืมของบนรถไฟใต้ดิน (Tube, Underground) หรือ รถเมล์ (ใน London) ติดต่อ TFL Lost property office, 200 Baker Street, London NW1 5RZ Tel: 0845 330 9882 (จันทร์ – ศุกร์)

     ไม่สบาย จะทำอย่างไร

     สิ่งแรกๆ ที่ต้องทำ คือ การไปลงทะเบียนกับแพทย์ท้องถิ่น (แพทย์ GP – General Practitioners) ที่อยู่ใกล้บ้าน เพราะประเทศอังกฤษ ระบบการรักษาพยาบาล เป็นระบบรักษาพยาบาลฟรี

     ถ้าไม่สบาย ต้องการหาหมอ บอกเจ้าของบ้าน (ถ้าพักอยู่กับครอบครัว Host Family) บอกผู้ดูแลหอพัก (ถ้าอยู่หอพักของโรงเรียน) หรือ โทรนัดพบแพทย์

     จะเข้า Pub ได้หรือไม่

     กฎหมายอังกฤษอนุญาตให้ผู้ที่อายุเกิน 18 ปี เข้าไปซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ Pub ได้ เมื่อเดินเข้าไปใน Pub เราสามารถเลือกโต๊ะที่นั่งได้เอง บนโต๊ะจะมีรายการอาหารวางตั้งอยู่ แต่เมื่อต้องการสั่งอาหาร จะต้องเดินไปสั่งที่เคาน์เตอร์บาร์ โดยแจ้งหมายเลขโต๊ะที่เรานั่งให้พนักงานทราบสั่งอาหาร และจ่ายสตางค์ก่อน อาหารจะถูกนำมาเสิร์ฟที่โต๊ะภายหลัง แต่เครื่องดื่มที่สั่ง สามารถสั่งและรอรับได้ในทันที