แนวทางปฏิบัติด้านการศึกษาสำหรับนักเรียนทุน

นักเรียนทุนที่ศึกษาในสหราชอาณาจักรและสาธารณรัฐไอร์แลนด์ควรศึกษาแนวทางปฏิบัติด้านการศึกษาสำหรับนักเรียนทุน (ด้านล่าง) โดยละเอียดก่อนการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้การศึกษาและการดำเนินชีวิตระหว่างศึกษาในต่างประเทศเป็นไปอย่างราบรื่นมากที่สุด หากมีความไม่ชัดเจนในรายละเอียดประการใด หรือต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อฝ่ายการศึกษา  สนร. อังกฤษ ก่อนการดำเนินการ

ด้วยความปรารถนาดี

สนร.อังกฤษ

แบบคำขอออนไลน์ (Quick link)

นักเรียนทุนสามารถกดลิงค์ด้านล่างนี้เพื่อกรอกแบบคำขอด้านการศึกษาได้ โดยขอให้ศึกษาแนวทางปฏิบัติด้านการศึกษาสำหรับนักเรียนทุน (ด้านล่าง) ให้ชัดเจนก่อนแล้วจึงกรอกข้อมูล เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นในภายหลัง

แบบคำขอด้านการศึกษา

สำหรับนักเรียนทุนที่เดินทางมาศึกษา ณ สหราชอาณาจักร หรือสาธารณรัฐไอร์แลนด์ เมื่อเดินทางถึงประเทศที่ศึกษาแล้ว กรุณาจัดส่งเอกสารรายงานตัวให้ สนร. ทางอีเมล scholars@oeauk.net หรือสามารถรายงานตัวด้วยตนเองที่ สนร. อังกฤษ (Office of Educational Affairs, The Royal Thai Embassy (OEA), 28 Princes Gate, London, SW7 1PT) ในโอกาสแรกที่จะทำได้ เพื่อให้ สนร. สามารถดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปได้ เช่น การชำระค่าเล่าเรียน การโอนค่าใช้จ่ายประจำเดือน โดยขอให้ส่งเอกสารประกอบรายงานตัวลงทะเบียนตามรายละเอียดด้านล่างนี้ 

หลักเกณฑ์การพิจารณาและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

  • เมื่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายการศึกษา ได้รับเอกสารรายงานตัวนักเรียนทุนใหม่และเอกสารประกอบแล้ว จะดำเนินการลงทะเบียนนักเรียนทุนใหม่ในระบบของ สนร. และจะแจ้งรหัสประจำตัว พร้อมรายละเอียดหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้นักเรียนทุนทราบทางอีเมล
  • หากนักเรียนทุนหรือต้นสังกัด ได้จ่ายเงินมัดจำค่าเล่าเรียน (Deposit) หรือค่าเล่าเรียนให้กับสถานศึกษาโดยตรงแล้ว โปรดแจ้งให้ สนร. ทราบ เพื่อการดำเนินการที่ถูกต้องต่อไป
  • ในกรณีที่สถานศึกษาต้องการหนังสือรับรองสถานภาพนักเรียนทุน สนร. จะดำเนินการออกหนังสือรับรองทางการเงิน (Financial Guarantee Letter) เพื่อให้ นทร. นำไปยื่นกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของมหาวิทยาลัยประกอบการลงทะเบียนเรียน และมหาวิทยาลัยจะส่งใบเรียกเก็บเงินค่าเล่าเรียนมาที่ สนร. โดยตรง กรณี ศึกษาหลักสูตรที่มีระยะเวลาศึกษาเกินกว่า 1 ปี สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ สนร. เพื่อขอเอกสารรับรองดังกล่าว ประกอบการลงทะเบียนศึกษาในแต่ละปีการศึกษา
  • กรณีที่ ศึกษาหลักสูตรภาษาอังกฤษก่อนเริ่มศึกษาหลักสูตรหลัก เมื่อสอบผ่านหลักสูตรดังกล่าวแล้ว โปรดส่งผลการเรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษ พร้อมกับดำเนินการขอ Financial guarantee Letter สำหรับหลักสูตรหลัก โดยการกรอกแบบคำขอรับรองสถานภาพนักเรียนทุนรัฐบาล พร้อมแนบเอกสาร Unconditional Offer ที่ระบุค่าเล่าเรียน สนร. จะดำเนินการออกหนังสือรับรองทางการเงิน (Financial Guarantee Letter) ให้ เพื่อนำไปยื่นให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยจะส่งใบเรียกเก็บเงินค่าเล่าเรียนมาที่ สนร. โดยตรง (กรณีที่ต้องขอวีซ่าใหม่ ให้เลือกขอเอกสารรับรองในการขอวีซ่าในแบบคำร้องเดียวกัน พร้อมแนบเอกสาร CAS Statement และ Unconditional offer)

เอกสารประกอบการรายงานตัวลงทะเบียนในระบบของ สนร. ดังนี้

  1. แบบรายงานตัวมาศึกษา ณ สหราชอาณาจักร ที่ได้รับจากสำนักงาน ก.พ.
  2. แบบรายงานตัวสำหรับนักเรียนทุนรัฐบาลใหม่ของ สนร.
  3. สำเนาหนังสือจากต้นสังกัดที่อนุมัติระยะเวลาลาศึกษาต่อ (กรณีข้าราชการ/เจ้าหน้าที่ภาครัฐ)
  4. สำเนาหนังสือเดินทางหน้าแรกที่มีรายละเอียดส่วนตัว
  5. สำเนาหนังสือเดินทางที่ประทับตรา “วันที่เดินทางมาถึง” สหราชอาณาจักร
  6. สำเนา BRP Card (หากมี)
  7. สำเนาเอกสาร/อีเมล จาก UKVI แสดงสถานะ Immigration status ที่ระบุระยะเวลาของวีซ่านักเรียนทุน
  8. สำเนาจดหมายตอบรับเข้าศึกษาของมหาวิทยาลัย ที่ระบุค่าเล่าเรียนอย่างชัดเจน (Offer Letter)
  9. CAS Statement
  10. สำเนาจดหมายตอบรับเข้าศึกษาหลักสูตรภาษาอังกฤษ (Pre-sessional course) (กรณีที่ได้รับตอบรับแบบมีเงื่อนไข Conditional offer)

นักเรียนทุนจะต้องลงทะเบียนศึกษาแบบเต็มเวลา (Full Time) โดยเลือกวิชาศึกษาให้ตรงตามโครงการศึกษา และแนวการปฏิบัติงานหลังสำเร็จการศึกษาตามความต้องการของต้นสังกัด หากมีความจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงแนวการศึกษาหรือย้ายสถานศึกษา กรุณาหารือกับเจ้าหน้าที่ สนร. เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนที่ถูกต้องและเพื่อนำเสนอผู้มีอำนาจอนุมัติตามระเบียบ เมื่อได้รับการอนุมัติแล้ว จึงจะสามารถเปลี่ยนแปลงแนวการศึกษาหรือย้ายสถานศึกษาได้

หลักเกณฑ์การพิจารณาและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง (กรณีย้ายสถานศึกษา)

  • เป็นผู้ที่สำนักงาน ก.พ. หรือต้นสังกัดมิได้กำหนดสถานศึกษาสำหรับผู้นั้นไว้เป็นกรณีพิเศษให้เข้าศึกษา ณ สถานศึกษาแห่งใดแห่งหนึ่งโดยเฉพาะ
  • การย้ายสถานศึกษาจะไม่ทำให้ต้องเปลี่ยนแนวการศึกษาให้ผิดไปจากแนวการศึกษาที่ สำนักงาน ก.พ. ได้อนุมัติหรือกำหนดไว้
  • สถานศึกษาที่ย้ายไปใหม่ ต้องมีมาตรฐานการศึกษาในระดับที่จะได้รับการพิจารณาคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าเดิม
  • การย้ายสถานศึกษาต้องไม่ทำให้เสียเวลาศึกษาเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมเกินสมควร
  • การย้ายสถานศึกษาต้องไม่ทำให้งบประมาณค่าใช้จ่ายเกินอัตราที่ สำนักงาน ก.พ. กำหนดไว้

หลักเกณฑ์การพิจารณาและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง (กรณีย้ายประเทศศึกษา)

  • มีผลการเรียนดี
  • มหาวิทยาลัยที่จะศึกษาจะต้องมีชื่อเสียงในสาขาวิชาที่ศึกษา
  • แหล่งทุนและต้นสังกัดเห็นชอบ

หมายเหตุ : สำหรับทุนด้านวิทยาศาสตร์ฯ แหล่งทุนไม่สนับสนุนให้นักเรียนทุนย้ายประเทศที่ศึกษาระหว่างที่กำลังศึกษา ณ ต่างประเทศ

นักเรียนทุนที่อยู่ในความดูแลของ สนร. จะต้องรายงานความก้าวหน้าในการศึกษาตามระบบของ สนร. อังกฤษ        4 ครั้ง รายละเอียดตามระดับหลักสูตรที่ศึกษารายละเอียด ดังนี้

1. ปริญญาตรี ปริญญาตรีควบโท และปริญญาโท

    1.1 กรอกแบบรายงานความก้าวหน้าเดือนมีนาคม และเดือนกันยายน* และส่งเอกสารประกอบการรายงานความก้าวหน้าในการศึกษาให้ สนร. ทางอีเมล scholars@oeauk.net

   1.2 กรอกแบบรายงานความก้าวหน้าในการศึกษารูปแบบที่ 2 เดือนมิถุนายน และเดือนธันวาคม ซึ่ง สนร. จะจัดส่ง Link ให้ท่านทางอีเมลล่วงหน้าก่อนกำหนด

กรณี นักเรียนทุนระดับปริญญาโท การแจ้งเดินทางกลับประเทศไทยถาวร ถือเป็นรายงานความก้าวหน้าฯ ของเดือนกันยายน

2. A-level/Foundation Programme และ ปริญญาเอก

    2.1 กรอกแบบรายงานความก้าวหน้าเดือนมิถุนายน และเดือนธันวาคม ทางอีเมล scholars@oeauk.net

    2.2 กรอกแบบรายงานความก้าวหน้าในการศึกษารูปแบบที่ 2 เดือนมีนาคม และเดือนกันยายน ซึ่ง สนร. จะจัดส่ง Link ให้ท่านทางอีเมลล่วงหน้าก่อนกำหนด

นักเรียนทุนทุกคนจะได้รับข้อมูลระยะเวลาการรับทุนการศึกษาของตนเองตามที่สำนักงาน ก.พ. อนุมัติในครั้งแรก หรือตามที่ สนร. อนุมัติขยายเวลาศึกษาให้ หากใกล้ครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว จะต้องยื่นแบบขอขยายเวลาศึกษา พร้อมชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการขยายเวลาศึกษา โดยดำเนินการจัดส่งแบบคำขอขยายเวลาศึกษา พร้อมกับเอกสารประกอบการพิจารณา ให้ สนร. สามารถดำเนินการล่วงหน้าได้อย่างน้อย 60 วัน แต่ไม่เกิน 90 วันก่อนที่ระยะเวลาการศึกษาจะครบกำหนด

เอกสารประกอบการพิจารณา 

  1. แบบคำขอขยายเวลาศึกษา
  2. Student Status Letter (สำหรับทุกระดับการศึกษา) สามารถขอได้จาก Student Office/ Graduate Office/ Admission Office/ Research Office ซึ่งจะระบุระยะเวลาที่เริ่มลงทะเบียนและระยะเวลาที่คาดว่าจะสำเร็จการศึกษา
  3. กำหนดการแจ้งผลการศึกษาอย่างไม่เป็นทางการ (กรณีศึกษาระดับปริญญาตรี)
  4. ผลการศึกษาฉบับล่าสุด หรือ จดหมายจากอาจารย์ที่ปรึกษา (กรณีศึกษาระดับปริญญาตรี และปริญญาโท)
  5. กำหนดการส่งวิทยานิพนธ์ (กรณีศึกษาระดับปริญญาโท)
  6. หนังสือรับรองอาจารย์ที่ปรึกษา ระบุความก้าวหน้าในการศึกษาและกำหนดเวลาที่จะสำเร็จการศึกษา (กรณีศึกษาระดับปริญญาโท by research และปริญญาเอก) (แบบแสดงความคิดเห็นของอาจารย์ที่ปรึกษา)

แบบแสดงความคิดเห็นของอาจารย์ที่ปรึกษา

กรณีต้องรอส่งวิทยานิพนธ์/ส่งวิทยานิพนธ์แล้ว และจำเป็นจะต้องรอผลการตรวจวิทยานิพนธ์ หรือสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ (VIVA) ควรจะมีระยะเวลาที่ระบุชัดเจน และระยะเวลาที่คาดการว่าจะต้องสอบ VIVA ที่ชัดเจน ส่วนกรณีที่สอบป้องกันวิทยานิพนธ์แล้ว แต่ยังไม่ผ่านหรือจำเป็นที่จะต้องแก้ไขนั้น กรุณาแจ้งกำหนดการส่งวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์

นักเรียนทุนที่ได้รับทุนการศึกษาให้ศึกษาระดับปริญญาตรี-โท ปริญญาตรี-โท-เอก หรือ ปริญญาโท-เอก เมื่อสำเร็จการศึกษาในแต่ละระดับการศึกษา จะต้องดำเนินการขออนุมัติศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นกับ สนร. โดยส่งแบบคำขอศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น พร้อมเอกสารประกอบตามรายละเอียดด้านล่างนี้

หลักเกณฑ์การพิจารณาและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

  • เป็นการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นตามโครงการศึกษา/แนวทางศึกษาที่แหล่งทุนหรือหน่วยงานต้นสังกัดกำหนด
  • มีสถานศึกษาตอบรับแบบไม่มีเงื่อนไข
  • เป็นสาขาวิชาที่สอดคล้องกับที่แหล่งทุนหรือหน่วยงานต้นสังกัดกำหนด
  • สำหรับนักเรียนทุน พสวท./สสวท. นร ทุนจะต้องมีผลการเรียนแต่ละระดับตามที่เจ้าของทุนกำหนดเพื่อศึกษาต่อระดับที่สูงขึ้น ดังนี้

           – ระดับปริญญาตรี ต้องมีผลการเรียน อย่างต่ำ 57.20% ในการศึกษาต่อระดับปริญญาโท

           – ระดับปริญญาโท ต้องมีผลการเรียน อย่างต่ำ 66.00% ในการศึกษาต่อระดับปริญญาเอก

  • สำหรับนักเรียนทุนปริญญาเอกที่ลงทะเบียนเรียนระดับ MPhil เมื่อผ่านการประเมินเปลี่ยนระดับการศึกษาเป็น PhD กรุณาแจ้งให้ สนร. ทราบทางอีเมล
  • ในการเปลี่ยนระดับการศึกษา นักเรียนทุนจะต้องขอวีซ่านักเรียนใหม่ กรุณาศึกษาขั้นตอนการขอวีซ่าตามกฎ UKVI และศึกษาหลักเกณฑ์การเบิกค่าวีซ่าของ สนร. ได้จาก หลักเกณฑ์การเบิกค่าใช้จ่ายสำหรับนักเรียนทุน
  • นักเรียนทุนสามารถขอเอกสารประกอบการขอวีซ่านักเรียนได้ ขึ้นอยู่กับประเทศที่ขอวีซ่า ดังนี้

           – สหราชอาณาจักร หรือ สาธารณรัฐไอร์แลนด์ ขอเอกสารรับรองสถานภาพการเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลเพื่อใช้ประกอบการขอวีซ่านักเรียนจาก สนร.

           – ประเทศไทย ขอเอกสารรับรองสถานภาพการเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลเพื่อใช้ประกอบการขอวีซ่านักเรียนจากสำนักงาน ก.พ.

  • กรณีมีการย้ายเมืองที่ศึกษา เมื่อได้รับอนุมัติให้ศึกษาในระดับที่สูงขึ้นแล้วนักเรียนทุนสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน ฯได้ที่ finance@oeauk.net หารือเรื่องค่าเดินทาง ค่าระวางขนส่งของในการย้ายสถานศึกษา และปรับฐานเงินค่าใช้จ่ายประจำเดือน

เอกสารประกอบการพิจารณา

  1. แบบคำขออนุมัติเปลี่ยนระดับการศึกษา
  2. Consent Form
  3. หนังสือตอบรับจากสถานศึกษา Unconditional Offer Letter
  4. CAS Statement
  5. ผลการเรียนยืนยันสำเร็จการศึกษา
  6. เอกสาร Research Proposal, Project approval form (กรณี ศึกษาต่อระดับปริญญาเอก)

นักเรียนทุนสามารถขอหนังสือรับรองสถานภาพการเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลจาก สนร. ได้ โดยดำเนินการยื่น แบบคำขอเอกสารรับรอง ฯ ให้ สนร. ล่วงหน้าอย่างน้อย 3-5 วันทำการ ก่อนวันที่ต้องการเอกสารรับรองฯ สนร. จะดำเนินการออกเอกสารรับรองฯ ให้ตามจุดประสงค์ของการใช้หนังสือรับรองฯ และส่งให้นักเรียนทุนทางอีเมล

ประเภทของหนังสือรับรองสถานภาพการเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลเอกสาร/ข้อมูล ประกอบการดำเนินการ
1) ประกอบการลงทะเบียนศึกษา (บางสถานศึกษาต้องขอทุกปี กรณีที่หลักสูตรการศึกษาเกินกว่า 1 ปี)

– หนังสือตอบรับจากสถานศึกษาระบุ ชื่อหลักสูตร/ วันเดือนปีที่เริ่มศึกษา

– เอกสารระบุค่าเล่าเรียน

2) ประกอบการสมัครเข้าศึกษาต่อ (Admission หรือ ประกอบการขอ CAS Statement จากสถานศึกษา แทนการจ่าย Deposit ค่าเล่าเรียน)

– รายละเอียดหลักสูตรที่สมัครเข้าศึกษาต่อ (Admission)

– หนังสือตอบรับแบบไม่มีเงื่อนไข Unconditional offer letter (ขอ CAS Statement)

3) ประกอบการต่ออายุวีซ่านักเรียนทุน UK/IE

– CAS statement (UK)

– หนังสือตอบรับแบบไม่มีเงื่อนไข (Unconditional offer)

– หนังสือประกอบการขอวีซ่าของสถานศึกษา (Ireland)

4) ประกอบการทำหนังสือเดินทางข้าราชการเล่มใหม่

– สำเนา Passport เดิม

– Student status letter หรือเอกสารที่ระบุวันที่คาดว่าจะเสร็จสิ้นการศึกษา

5) ประกอบการเช่าที่อยู่อาศัย (สนร. ไม่สามารถเป็น Guarantor ในการเช่าที่อยู่อาศัยได้)– ระบุชื่อบริษัท หรือ Agency

 

นักเรียนทุนสามารถเดินทางออกนอกประเทศที่ศึกษาระหว่างศึกษาได้ ในกรณีต่าง ได้แก่ การเดินทางกลับประเทศไทยชั่วคราว การเดินทางไปทัศนศึกษา การไปเข้าร่วมประชุมทางวิชาการ หรือการเข้าร่วมกิจกรรมการพัฒนาเสริมสร้างประสบการณ์ อาทิ Field trip (เฉพาะกรณีไม่ขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจาก สนร.)  โดยนักเรียนทุนจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในการเดินทางด้วยตนเอง เช่น ค่าเดินทาง ค่าวีซ่า ค่าตรวจโรค ฯลฯ และจะต้องขออนุมัติการเดินทางออกนอกประเทศที่ศึกษาในทุกกรณี โดยจะต้องได้รับการอนุมัติจาก สนร. ก่อนเดินทางทุกครั้ง ทั้งนี้ สามารถดำเนินการได้โดยจัดส่ง แบบคำขอเดินทางออกนอกประเทศที่ศึกษา ไปยัง สนร. และเมื่อได้รับการอนุมัติให้เดินทางแล้ว (ทางอีเมล) จึงจะสามารถดำเนินการจองตั๋วเดินทางได้ และจะต้องจัดส่งสำเนาการจองตั๋วเดินทางให้ สนร. ทราบ ก่อน แล้วจึงจะสามารถเดินทางออกนอกประเทศที่ศึกษาได้ 

หลักเกณฑ์การพิจารณาและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

  • นักเรียนทุนสามารถขอเดินทางออกนอกประเทศที่ศึกษาได้ระหว่างช่วงการปิดภาคเรียน หรือหากอยู่ระหว่างช่วงเปิดภาคเรียน โดย สนร. จะพิจารณาอนุมัติการเดินทางครั้งละ ไม่เกิน 1 เดือน และจะต้องได้รับการอนุมัติจากสถานศึกษา/อาจารย์ที่ปรึกษา ระบุว่าการเดินทางจะไม่ส่งผลกระทบต่อผลการเรียน ไม่ทำให้ระยะเวลาศึกษาและงบประมาณค่าใช้จ่ายของนักเรียนทุนเพิ่มขึ้น
  • กรณี เดินทางกลับประเทศไทยชั่วคราว ระหว่างพำนักอยู่ ณ ประเทศไทย นักเรียนทุนจะได้รับเงินประจำเดือนอัตราประเทศที่ศึกษา สูงสุด 90 วันต่อปีปฏิทิน (1 ม.ค.–31 ธ.ค.) โดยนับระยะเวลาทุกครั้งรวมกัน หากพำนักอยู่ที่ประเทศไทย เกิน 90 วัน จะไม่ได้รับค่าใช้จ่ายใดๆ ในฐานะนักเรียนทุนรัฐบาล และจะได้รับค่าใช้จ่ายประจำเดือนอีกครั้งเมื่อเดินทางถึงประเทศที่ศึกษา ทั้งนี้ เมื่อเดินทางถึงประเทศไทยแล้วต้องรายงานตัวที่สำนักงาน ก.พ. ในโอกาสแรกที่จะกระทำได้ทางอีเมล
  • กรณี เดินทางกลับประเทศไทยชั่วคราวพร้อมกับการเก็บข้อมูลวิทยานิพนธ์ในประเทศไทย ระยะเวลาการกลับประเทศไทยชั่วคราวจะถูกนับรวมเป็นเวลาการเก็บข้อมูลวิทยานิพนธ์ (รายละเอียดเพิ่มเติม สามารถดูได้ในหัวข้อการเก็บข้อมูลวิทยานิพนธ์)
  • การเดินทางไปประชุมวิชาการ กรณี ไม่ขอเงินสนับสนุนจาก สนร. นักเรียนทุนจะต้องยื่นเอกสารตอบรับการเข้าร่วมประชุมวิชาการและแผนการเดินทาง เอกสารหรืออีเมลสนับสนุนจากอาจารย์ที่ปรึกษา
  • เมื่อนักเรียนทุนเดินทางกลับถึงประเทศที่ศึกษา กรุณาแจ้งให้ สนร. ทราบโดยการส่งหน้าหนังสือเดินทางที่มีตราประทับเข้าประเทศที่เดินทางไปและประทับเข้าประเทศที่ศึกษาให้ สนร. ทางอีเมล (กรณี ไม่มีตราประทับวันที่เดินทาง กรุณาส่ง Boarding pass)

นักเรียนทุนที่มีความจำเป็นที่จะต้องเก็บข้อมูลวิทยานิพนธ์นอกประเทศที่ศึกษา ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องด้วยตนเอง เช่น ค่าตั๋ว ค่าวีซ่า ค่าตรวจโรค ฯลฯ โดยจะต้องได้รับอนุมัติการเดินทางไปเก็บข้อมูลนอกประเทศที่ศึกษาจาก สนร. รายละเอียด ดังนี้

หลักเกณฑ์การพิจารณาและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

  • นักเรียนทุนจะต้องศึกษาในประเทศที่ศึกษาแล้วเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน
  • สนร. จะพิจารณาการเก็บข้อมูลนอกประเทศที่ศึกษาได้สูงสุดไม่เกิน 1 ปี (รวมระยะเวลาตลอดหลักสูตรการศึกษา) หากการเก็บข้อมูลรวมเกินกว่า 1 ปี ระยะเวลาที่เกิน 1 ปี สนร. จะส่งเรื่องให้แหล่งทุนพิจารณา
  • นักเรียนทุนจะได้รับอัตราเงินเดือนประเทศที่ศึกษา สูงสุดไม่เกิน 180 วัน (ครั้งเดียว 180 วัน หรือ หลายครั้งนับรวมกันไม่เกิน 180 วัน) หากระยะเวลาเก็บข้อมูลเกินกว่า 180 วัน นักเรียนทุนจะได้รับอัตราเงินเดือนของประเทศที่เดินทางไปเก็บข้อมูล
  • กรณี เดินทางไปเก็บข้อมูล ณ ประเทศไทย พร้อมกับการเดินทางกลับประเทศไทยชั่วคราว ระยะเวลาการเดินทางของทั้งสองกรณีจะถูกนับรวมกันและถือเป็นการเก็บข้อมูลวิทยานิพนธ์นอกประเทศที่ศึกษา
  • กรณี เดินทางไปเก็บข้อมูล ณ ประเทศไทย เมื่อเดินทางถึงประเทศไทยแล้วจะต้องรายงานตัวที่สำนักงาน ก.พ. ทางอีเมล ในโอกาสแรกที่จะกระทำได้

    เมื่อนักเรียนทุนเดินทางกลับถึงประเทศที่ศึกษา กรุณาแจ้งให้ สนร. ทราบโดยการส่งหน้าหนังสือเดินทางที่มีตราประทับเข้าประเทศที่เดินทางไปและประทับเข้าประเทศที่ศึกษาให้ สนร. ทางอีเมล (กรณี ไม่มีตราประทับวันที่เดินทาง กรุณาส่ง Boarding pass)

  • โปรดศึกษา หลักเกณฑ์การเบิกค่าใช้จ่ายสำหรับนักเรียนทุนประกอบการดำเนินการด้วย

เอกสารประกอบการพิจารณา

  1. แบบคำขออนุญาตไปเก็บข้อมูลวิทยานิพนธ์นอกประเทศที่ศึกษา
  2. กำหนดการและแผนการเก็บข้อมูลวิทยานิพนธ์โดยสังเขป ซึ่งระบุสถานที่ ระยะเวลาที่ใช้ในการเก็บข้อมูล
  3. จดหมายจากอาจารย์ที่ปรึกษา รับรองการให้กลับไปเก็บข้อมูลนอกประเทศที่ศึกษา
  4. หนังสือรับรองสถานภาพนักศึกษา

นักเรียนทุนที่มีความจำเป็นจะต้องเข้าร่วมประชุมทางวิชาการ และประสงค์ขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่าย จะต้องได้รับอนุมัติจาก สนร. ก่อนการเข้าร่วมประชุมทางวิชาการ โดยสามารถดำเนินการตามกรณี ต่างๆ ดังนี้

กรณีเป็นข้อบังคับของหลักสูตร

นักเรียนทุนสามารถขอเข้าร่วมประชุมทางวิชาการตามข้อบังคับของหลักสูตรได้ ทั้งนอกและในประเทศที่ศึกษา และนักเรียนทุนสามารถขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องได้ในอัตราประหยัด ตามที่จ่ายจริง เช่น ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าที่พักในอัตราประหยัด ค่าลงทะเบียน ค่าวีซ่า ค่าตรวจโรค (หากมี) ฯลฯ ทั้งนี้ หากนักเรียนทุนได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากสถานศึกษาหรือองค์กรอื่นแล้ว จะไม่สามารถขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในรายการเดียวกันได้อีก

หลักเกณฑ์การพิจารณาและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง 

  • นักเรียนทุนจะต้องศึกษาด้วยทุนรัฐบาลในระหว่างเข้าร่วมประชุมทางวิชาการ
  • นักเรียนทุนจะต้องมีการเสนอผลงานในรูปแบบ Oral Presentation หรือ Poster
  • สถานศึกษาไม่ได้เรียกเก็บค่าประชุมทางวิชาการจาก สนร. อยู่ก่อนแล้ว
  • กรณี นักเรียนทุนระดับปริญญาเอก สามารถขอเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายได้ จำนวน 1 ครั้งต่อหลักสูตรการศึกษา ยกเว้น นักเรียนทุนที่ได้รับทุนการศึกษาตั้งแต่งบประมาณประจำปี 2565 เป็นต้นไป สามารถขอเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายได้ จำนวน 2 ครั้งต่อหลักสูตรการศึกษา และจำนวน 1 ครั้งสำหรับระดับปริญญาโท
  • เมื่อนักเรียนทุนเดินทางกลับถึงประเทศที่ศึกษา กรุณาแจ้งให้ สนร. ทราบโดยการส่งหน้าหนังสือเดินทางที่มีตราประทับเข้าประเทศที่เดินทางไปและประทับเข้าประเทศที่ศึกษาให้ สนร. ทางอีเมล (กรณี ไม่มีตราประทับวันที่เดินทาง กรุณาส่ง Boarding pass) และดำเนินการเบิกค่าใช้จ่ายตามที่ได้รับอนุมัติกับฝ่ายการเงิน โดยศึกษารายละเอียดได้จาก หลักเกณฑ์การเบิกค่าใช้จ่ายสำหรับนักเรียนทุน

เอกสารประกอบการพิจารณา

  1. แบบคำขอเข้าร่วมประชุมทางวิชาการ หรือ กิจกรรมการพัฒนาเสริมสร้างประสบการณ์ กรณีขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่าย
  2. จดหมายตอบรับการเข้าร่วมประชุมฯ จากองค์กรที่จัดการสัมมนานั้น โดยระบุช่วงเวลาการสัมมนา
  3. จดหมายแสดงความเห็นชอบในการเข้าร่วมประชุมฯ จากอาจารย์ที่ปรึกษา
  4. สำเนาบทความหรืองานวิจัยที่ได้รับการตอบรับให้นำเสนอผลงานในการเข้าร่วมประชุมวิชาการ
  5. เอกสารชี้แจงหลักสูตรการศึกษาระบุว่าการเข้าร่วมประชุมทางวิชาการเป็นข้อบังคับของหลักสูตร
  6. รายละเอียดกำหนดการการประชุมทางวิชาการ
  7. กรณี ขอค่าเดินทาง ยื่นเอกสารเปรียบเทียบราคาตั๋วเครื่องบิน 3 สายการบิน (อัตราประหยัด)
  8. กรณี ขอค่าที่พัก ยื่นเอกสารเปรียบเทียบราคาที่พัก 3 แห่ง (ไม่เกิน 3 ดาว) (อัตราประหยัด)
  9. กรณี ขอค่าลงทะเบียน ยื่นเอกสารระบุค่าลงทะเบียน
  10. กรณี ขอค่าวีซ่า ยื่นเอกสารระบุค่าใช้จ่ายวีซ่า
  11. กรณี ขอสนับสนุนค่าใช้จ่ายค่าตรวจโรค ยื่นเอกสารข้อบังคับการตรวจโรค จากประเทศที่เข้าร่วมประชุม และรายละเอียดค่าจ่ายในการตรวจโรค

กรณีไม่เป็นข้อบังคับของหลักสูตร

นักเรียนทุนที่ประสงค์เข้าร่วมประชุมทางวิชาการ ที่มิใช่ข้อบังคับของหลักสูตร ทั้งนอกและในประเทศที่ศึกษา และประสงค์ขอเงินสนับสนุนค่าใช้จ่าย จะสามารถขอสนับสนุนค่าใช้จ่ายได้เฉพาะค่าลงทะเบียนในการประชุมวิชาการ ทั้งนี้ หากนักเรียนทุนได้รับการสนับสนุนค่าลงทะเบียนจากสถานศึกษาหรือองค์กรอื่นแล้ว จะไม่สามารถขอรับการสนับสนุนค่าลงทะเบียนได้อีก และนักเรียทุนจะต้องได้รับอนุมัติการสนับสนุนค่าลงทะเบียนในการประชุมวิชาการ จาก สนร. หรือแหล่งทุนก่อนการประชุมฯ หากดำเนินการขอสนับสนุนค่าใช้จ่ายหลังจากการประชุมฯ เสร็จสิ้นแล้ว จะไม่ได้รับการพิจารณาการสนับสนุนค่าใช้จ่ายดังกล่าว

หลักเกณฑ์การพิจารณาและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

  • นักเรียนทุนต้องศึกษาด้วยทุนรัฐบาลในระหว่างเข้าร่วมประชุมทางวิชาการ
  • นักเรียนทุนจะต้องมีการเสนอผลงานในรูปแบบ Oral Presentation หรือ Poster
  • สถานศึกษาไม่ได้เรียกเก็บค่าประชุมทางวิชาการจาก สนร. อยู่ก่อนแล้ว
  • กรณี นักเรียนทุนระดับปริญญาเอก สามารถขอเงินสนับสนุนค่าลงทะเบียน ได้ 1 ครั้งต่อหลักสูตรการศึกษา ยกเว้น นักเรียนทุนระดับปริญญาโท ที่ได้รับทุนการศึกษาตั้งแต่งบประมาณประจำปี 2565 เป็นต้นไป สามารถขอเงินสนับสนุนค่าลงทะเบียน ได้ 1 ครั้งต่อหลักสูตรการศึกษา
  • เมื่อนักเรียนทุนเดินทางกลับถึงประเทศที่ศึกษา กรุณาแจ้งให้ สนร. ทราบโดยการส่งหน้าหนังสือเดินทางที่มีตราประทับเข้าประเทศที่เดินทางไปและประทับเข้าประเทศที่ศึกษาให้ สนร. ทางอีเมล (กรณี ไม่มีตราประทับวันที่เดินทาง กรุณาส่ง Boarding pass) และดำเนินการเบิกค่าใช้จ่ายตามที่ได้รับอนุมัติกับฝ่ายการเงิน โดยศึกษารายละเอียดได้จาก หลักเกณฑ์การเบิกค่าใช้จ่ายสำหรับนักเรียนทุน

เอกสารประกอบการพิจารณา

  1. แบบคำขอเข้าร่วมประชุมทางวิชาการ หรือ กิจกรรมการพัฒนาเสริมสร้างประสบการณ์ กรณีขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่าย
  2. จดหมายตอบรับการเข้าร่วมประชุมฯ จากองค์กรที่จัดการสัมมนานั้น โดยระบุช่วงเวลาการสัมมนา
  3. จดหมายแสดงความเห็นชอบในการเข้าร่วมประชุมฯ จากอาจารย์ที่ปรึกษา
  4. สำเนาบทความหรืองานวิจัยที่ได้รับการตอบรับให้นำเสนอผลงานในการเข้าร่วมประชุมวิชาการ
  5. รายละเอียดกำหนดการการประชุมทางวิชาการ
  6. เอกสารระบุค่าลงทะเบียนประชุมทางวิชาการ

นักเรียนทุนที่มีความจำเป็นจะต้องเข้าร่วมกิจกรรมการพัฒนาเสริมสร้างประสบการณ์ในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ field trip และประสงค์ขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่าย จะต้องได้รับอนุมัติจาก สนร. ก่อนการเข้าร่วมกิจกรรม โดยสามารถดำเนินการตามกรณี ต่างๆ ดังนี้ ทั้งนี้ สำหรับนักเรียนทุนที่ได้รับทุนการศึกษาตั้งแต่งบประมาณประจำปี 2565 เป็นต้นไป

กรณีเป็นข้อบังคับของหลักสูตร

นักเรียนทุนสามารถขอเข้าร่วมกิจกรรมการพัฒนาเสริมสร้างประสบการณ์ได้ตามระยะเวลาที่หลักสูตรกำหนด (ไม่เกิน 6 เดือน) โดยจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจาก สนร. 

หลักเกณฑ์การพิจารณาและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

  • นักเรียนทุนจะต้องศึกษาด้วยทุนรัฐบาลในระหว่างเข้าร่วมกิจกรรม

เอกสารประกอบการพิจารณา

  1. แบบคำขอเข้าร่วมประชุมทางวิชาการ หรือ กิจกรรมการพัฒนาเสริมสร้างประสบการณ์ กรณีขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่าย
  2. เอกสาร/อีเมลรายละเอียดของกิจกรรมการพัฒนาเสริมสร้างประสบการณ์
  3. เอกสารสถานศึกษาหรือ Course module ระบุการเข้าร่วมกิจกรรมการพัฒนาเสริมสร้างประสบการณ์ เป็นข้อบังคับของหลักสูตร
  4. เอกสารแสดงรายละเอียดค่าใช้จ่าย

กรณีไม่เป็นข้อบังคับของหลักสูตร

นักเรียนทุนสามารถขอเข้าร่วมกิจกรรมการพัฒนาเสริมสร้างประสบการณ์ได้ตามระยะเวลาที่หลักสูตรกำหนด (ไม่เกิน 6 เดือน) โดยจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจาก สนร. ทั้งนี้ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากแหล่งทุนหรือหน่วยงานต้นสังกัดก่อน

หลักเกณฑ์การพิจารณาและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

  • นักเรียนทุนจะต้องศึกษาด้วยทุนรัฐบาลในระหว่างเข้าร่วมกิจกรรม
  • แหล่งทุนหรือหน่วยงานต้นสังกัดให้ความเห็นชอบให้นักเรียนทุนเข้าร่วมกิจกรรม

เอกสารประกอบการพิจารณา

  1. แบบคำขอเข้าร่วมประชุมทางวิชาการ หรือ กิจกรรมการพัฒนาเสริมสร้างประสบการณ์ กรณีขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่าย
  2. สำเนาจดหมาย/อีเมล จากแหล่งทุนหรือหน่วยงานต้นสังกัดที่ให้ความเห็นชอบให้เข้าร่วมกิจกรรม
  3. เอกสาร/อีเมลรายละเอียดของกิจกรรมการพัฒนาเสริมสร้างประสบการณ์
  4. เอกสารสถานศึกษาหรือ Course module ระบุการเข้าร่วมกิจกรรมการพัฒนาเสริมสร้างประสบการณ์ เป็นข้อบังคับของหลักสูตร
  5. เอกสารแสดงรายละเอียดค่าใช้จ่าย

กรณีที่นักเรียนทุนประสบปัญหาระหว่างศึกษาหรือไม่สามารถศึกษาระดับการศึกษาที่สูงขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง สามารถยื่นเรื่องขอพักการศึกษาชั่วคราวได้ โดย สนร. จะพิจารณาตามเหตุผลและความจำเป็น และหากนักเรียนทุนได้รับการอนุมัติให้พักการศึกษาชั่วคราว นักเรียนทุนจะไม่ได้รับค่าใช้จ่ายใดๆในฐานะนักเรียนทุนรัฐบาล/ทุนองค์กร ในระหว่างการพักการศึกษาชั่วคราว

หลักเกณฑฺ์การพิจารณาและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

  • เมื่อนักเรียนทุนประสบปัญหาระหว่างศึกษา เช่น ปัญหาด้านการศึกษา ปัญหาด้านสุขภาพ หรือคาดว่าจะไม่สามารถศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง กรุณาหารือกับเจ้าหน้าที่ สนร. ในโอกาสแรกที่จะทำได้ เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหา หรือดำเนินการเรื่องต่างๆได้ถูกต้องตามขั้นตอน
  • การพักการศึกษา กรณี ที่ไม่สามารถศึกษาต่อระดับที่สูงขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง หากครบกำหนดการพักการศึกษาชั่วคราวที่ได้รับอนุมัติแล้ว แต่ยังไม่มีสถานศึกษาตอบรับอย่างเป็นทางการแต่มีหลักฐานแสดงความคืบหน้าในการสมัครสถานศึกษา สนร. จะพิจารณาขยายเวลาพักการศึกษาชั่วคราวให้ท่านเพิ่มเติม แต่รวมกันทั้งหมดแล้วจะต้องไม่เกิน 1 ปีการศึกษาทั้งนี้ หากพักการศึกษาชั่วคราวเป็นเวลา 1 ปี/ 1 ปีการศึกษา (แล้วแต่กรณี) แล้ว สนร. จะพิจารณาเสนอให้ยุติการศึกษา  

เอกสารประกอบการพิจารณา

  1. แบบคำขอพักการศึกษาชั่วคราว
  2. Student status letter (กรณี มีปัญหาด้านการศึกษาและด้านสุขภาพ)
  3. เอกสารอาจารย์ที่ปรึกษา หรือเอกสารสถานศึกษา (กรณี มีปัญหาด้านการศึกษาและด้านสุขภาพ)
  4. เอกสารทางการแพทย์ (กรณี มีปัญหาสุขภาพ)
  5. ผลการเรียนระดับปัจจุบัน (กรณี มีปัญหาด้านการศึกษาและรอศึกษาต่อระดับที่สูงขึ้น)
  6. เอกสารตอบรับ/ปฏิเสธ จากสถานศึกษา, Conditional offer (หากมี), Unconditional offer (หากมี), CAS statement (หากมี) (กรณี รอศึกษาต่อระดับที่สูงขึ้น)
  7. กรณี ศึกษาต่อระดับปริญญาเอก Research Proposal, Project approval form (หากมี)

นักเรียนทุนที่ประสงค์ขออยู่ฝึกอบรม/ฝึกงาน/ดูงานต่อหลังจากสำเร็จการศึกษา จะต้องยื่นเรื่องต่อ สนร. ก่อนสำเร็จการศึกษาไม่น้อยกว่า 60 วัน เมื่อได้รับอนุมัติแล้วจึงจะอยู่ฝึกอบรมหรือดูงานได้ และจะต้องฝึกอบรม/ฝึกงาน/ดูงาน ตามที่ได้รับอนุมัติเท่านั้น ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงระยะเวลา สถานที่ หรือแนวการฝึกอบรม/ฝึกงาน/ดูงาน ที่ต่างไปจากที่ได้รับอนุมัติไว้แล้วได้ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงก่อน

หลักเกณฑ์การพิจารณาและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

  • นักเรียนทุนต้องสำเร็จ/เสร็จสิ้นการศึกษาภายในกรอบระยะเวลาศึกษาด้วยทุนรัฐบาลเท่านั้น
  • นักเรียนทุนยื่นคำขอเป็นลายลักษณ์อักษรต่อ สนร. ก่อนสำเร็จ/เสร็จสิ้นการศึกษาอย่างน้อย 60 วัน
  • นักเรียนทุนได้รับการตอบรับให้ฝึกอบรม/ฝึกงาน/ดูงานอย่างต่อเนื่องหลังจากสำเร็จการศึกษา โดยระบุสถานที่ ระยะเวลา และมีโครงการฝึกอบรม/ฝึกงาน/ดูงาน ที่ชัดเจน ประกอบการพิจารณาโดยสังเขป
  • นักเรียนทุนต้องประสานแหล่งทุน/หน่วยงานต้นสังกัดโดยตรง และให้ส่วนราชการต้นสังกัด/แหล่งทุนมีหนังสืออนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรสนับสนุนให้นักเรียนทุนฝึกอบรม/ฝึกงาน/ดูงานหลังจากสำเร็จการศึกษา
  • จะต้องเป็นการฝึกอบรม/ฝึกงาน/ดูงานในประเทศที่ศึกษา
  • มีระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน
  • นักเรียนทุนจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม/ฝึกงาน/ดูงานด้วยตนเอง
  • นักเรียนจะต้องเดินทางกลับประเทศไทยทันทีหลังจากการเสร็จสิ้นการฝึกอบรม/ฝึกงาน/ดูงาน

ทั้งนี้ สำหรับนักเรียนทุนที่ได้รับทุนการศึกษาตั้งแต่งบประมาณประจำปี 2565 เป็นต้นไป สามารถขอฝึกอบรม/ฝึกงาน/ดูงานหลังจากสำเร็จการศึกษาได้สูงสุดไม่เกิน 6 เดือน และจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้วยทุนรัฐบาล ยกเว้น กรณีที่ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่าย/ค่าตอบแทนแล้วจะได้รับการอนุมัติด้วยทุนส่วนตัว

เอกสารประกอบการพิจารณา

  1. แบบคำขอดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ระบุแจ้งความประสงค์ขอดูงานหลังสำเร็จการศึกษา 
  2. จดหมายตอบรับการฝึกอบรม/ฝึกงาน/ดูงาน โดยระบุเวลาชัดเจน
  3. รายละเอียดโครงการฝึกอบรม/ฝึกงาน/ดูงาน
  4. ผลการศึกษาฉบับล่าสุด
  5. เอกสารระบุระยะเวลาที่คาดว่าจะสำเร็จการศึกษา
  6. หนังสืออนุมัติจากส่วนราชการต้นสังกัด/แหล่งทุน สนับสนุนให้นักเรียนทุนฝึกอบรม/ฝึกงาน/ดูงานหลังจากสำเร็จการศึกษา

1. นักเรียนทุนยื่นแบบแสดงความจำนงเลือกหน่วยงาน ก่อนที่จะสำเร็จการศึกษาประมาณ 6 เดือน และนำส่งหนังสือแสดงความจำนงฯ ถึง สนร. หรือ สกพ. โดย ก.พ. ได้กำหนดแนวทางการพิจารณาหน่วยงานเพื่อชดใช้ทุนไว้ ดังนี้

     1.1 จะพิจารณาให้ปฏิบัติราชการชดใช้ทุนในส่วนราชการที่เป็น กระทรวง/กรม เป็นอันดับแรก โดยนักเรียนทุนกลางจะต้อง ระบุกระทรวง/กรม ที่ประสงค์จะไปชดใช้ทุนอย่างน้อย 1 แห่ง

     1.2 สำหรับหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่กระทรวง/กรม จะพิจารณาจากหลักการประเภทหน่วยงานของรัฐในกำกับของฝ่ายบริหารของสำนักงาน ก.พ.ร. และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังนี้

            1.2.1 เป็นหน่วยงานของรัฐที่ใช้งบประมาณของรัฐ และไม่แสวงหากำไร/รายได้ รวมทั้งต้องมีภารกิจต่อเนื่อง

            1.2.2 กรอบหน่วยงานของรัฐ ได้แก่ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ/หน่วยงานของศาล หรือหน่วยงานในกำกับของรัฐ/องค์การมหาชน หรือสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ

     1.3 กำหนดเกณฑ์ที่จะจัดสรรรนักเรียนทุนกลางไปปฏิบัติงานยังหน่วยงานในกำกับของรัฐ หรือองค์การมหาชน และสถาบันอุดมศึกษา ดังนี้

            1.3.1 สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาที่ไม่สอดคล้องกับบทบาทภารกิจของกระทรวง/กรม เช่น สาขาวิชาวิศวกรรมอากาศยาน ฯลฯ หรือ

            1.3.2 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก

            1.3.3 หน่วยงานของรัฐมีเหตุผลความจำเป็นอย่างยิ่งและขอให้สำนักงาน ก.พ. พิจารณาเป็นการเฉพาะราย และสำนักงาน ก.พ. พิจารณาแล้วว่าจะเป็นประโยชน์และก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ต่อประเทศชาติ รวมทั้งหน่วยงานของรัฐและตัวนักเรียนทุน เช่น กรณีสถาบันการศึกษามีความต้องการนักเรียนทุนที่ศึกษากฎหมายจีน

2. แนบเอกสารเพื่อประกอบการพิจารณาของส่วนราชการไปพร้อมหนังสือแสดงความจำนงฯ ดังนี้

     2.1 ภาพถ่ายหลักฐานการศึกษาปัจจุบัน เช่น ใบปริญญาบัตร Transcript of records หนังสือรับรองของสถาบันการศึกษาว่ากำลังศึกษาในระดับใด หรือ สำเร็จการศึกษาในระดับใด บทคัดย่อวิทยานิพนธ์ (หากมี)

     2.2 ประวัติส่วนบุคคล (Resume) เช่น ประวัติการศึกษา ประสบการณ์ฝึกอบรม/ดูงาน ความสามารถพิเศษ

     2.3 เอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณารับเข้าปฏิบัติงาน (หากมี)

***เอกสารการศึกษาที่ไม่เป็นภาษาอังกฤษขอให้นักเรียนแปลเป็นภาษาอังกฤษให้ด้วย***

3. สำนักงาน ก.พ. จะพิจารณาจัดสรรนักเรียนทุนกลางให้ปฏิบัติราชการชดใช้ทุนยังส่วนราชการต่าง ๆ ที่มีความประสงค์และตำแหน่งว่างพร้อมที่จะบรรจุนักเรียนทุน (ไม่รวมถึงรัฐวิสาหกิจ/หน่วยงานที่ไม่อยู่ในกรอบการจัดสรรของสำนักงาน ก.พ. ที่จะให้นักเรียนทุนกลางไปปฏิบัติงานชดใช้ทุน) โดยคำนึงถึงความจำเป็นเร่งด่วนจำนวนกำลังคนในสาขาวิชาเดียวกันหรือใกล้เคียงกันที่มีอยู่แล้วในส่วนราชการนั้น และการใช้ประโยชน์จากนักเรียนทุน รวมทั้งความสอดคล้องกับนโยบายและแผนการจัดสรรทุนของรัฐบาลที่ ก.พ. กำหนด และนโยบายและแผนงาน ที่กระทรวง กรม หรือหน่วยงานของรัฐกำหนด

 

 

นักเรียนทุนที่ประสงค์รับทุนการศึกษาจากหน่วยงานอื่นหรือจากสถานศึกษา ต้องดำเนินการขออนุมัติการรับทุนอื่นกับ สนร. ก่อนการตอบตกลงรับทุนอื่นๆ โดยกรอก แบบคำขอดำเนินการเรื่องต่างๆ พร้อมเอกสารประกอบการพิจารณาที่เกี่ยวข้อง เช่น เงื่อนไขการรับทุนอื่นๆ

หลักเกณฑ์การพิจารณาและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

  • ทุนการศึกษาที่ได้รับจะต้องเป็นทุนให้เปล่า ไม่มีข้อผูกมัดในการชดใช้ทุนหลังจากนักเรียนทุนสำเร็จการศึกษา
  • การรับทุนนั้นจะไม่ทำให้การศึกษาของนักเรียนทุนนั้นผิดไปจากแนวการศึกษาเดิม
  • นักเรียนทุนจะต้องรับทุนอื่นๆ ควบคู่กับการรับทุนรัฐบาล ไม่สามารถงดรับทุนรัฐบาลได้เต็มจำนวน
  • นักเรียนทุนสามารถของดรับค่าเล่าเรียนจากราชการได้ โดยจะต้องรับค่าใช้จ่ายประจำเดือนและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามระเบียบของราชการ เพื่อให้มีผลผูกพันตามสัญญา
  • หากทุนการศึกษาเป็นการยกเว้นค่าเล่าเรียนหรือเป็นการมอบส่วนลดค่าเล่าเรียน โดยนักเรียนทุนได้รับเงินทุนดังกล่าว นักเรียนทุนจะต้องส่งเงินส่วนนั้นให้แก่ สนร.

เมื่อนักเรียนทุนใกล้เสร็จสิ้นการศึกษาหรือประสงค์ยุติการศึกษา ณ ต่างประเทศ นักเรียนทุนต้องวางแผนการเดินทางกลับประเทศไทยถาวรล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน เพื่อให้เป็นไปตามกฎที่ราชการกำหนดไว้ และดำเนินการแจ้งกำหนดการเดินทางกลับประเทศไทยถาวรกับ สนร. รวมทั้งขอเบิกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายการเงินของ สนร. ก่อนการเดินทางกลับประเทศไทย

การวางแผนเดินทางกลับประเทศไทยถาวร กรุณาตรวจสอบความถูกต้องของวันเดินทางให้เป็นไปตามกฎระเบียบ หากมีข้อสงสัย กรุณาสอบถามเจ้าหน้าที่ สนร. ก่อนการจองตั๋วเดินทางกลับประเทศไทย (ทั้งกรณี จองตั๋วเดินทางกับ สนร. และจองด้วยตนเอง) ทั้งนี้ นักเรียนทุนสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการจองตั๋วเดินทางและการขอเบิกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องได้ที่ หลักเกณฑ์การเบิกค่าใช้จ่ายสำหรับนักเรียนทุน (ข้อ 9 การจองตั๋วโดยสารเครื่องบิน กลับประเทศไทยถาวร)

การแจ้งการเดินทางกลับประเทศไทยถาวร กรณีเสร็จสิ้นการศึกษา

ตรวจสอบวันเดินทางกลับถึงประเทศไทยและรายงานตัวกลับเข้าปฏิบัติงานชดใช้ทุน ให้เป็นไปตามระเบียบที่กำหนดไว้ ดังนี้

1. ระดับปริญญาตรี: ต้องเดินทางกลับถึงประเทศไทย และ รายงานตัวปฏิบัติงาน ภายใน 20 วัน นับถัดจากวันที่ทราบผลการศึกษาอย่างไม่เป็นทางการ

เอกสารประกอบการพิจารณา

  1. แบบคำขอแจ้งการเดินทางกลับประเทศไทยถาวร
  2. ผลการศึกษาอย่างไม่เป็นทางการ (Provisional Result)
  3. กำหนดการประกาศผลการศึกษาอย่างไม่เป็นทางการ
  4. สำเนาตั๋วเดินทางกลับประเทศไทย (กรณี ไม่ได้จองตั๋วฯ กับ สนร.)

2. ระดับปริญญาโท: กรณีที่ ศึกษา ไม่เกิน 1 ปี ต้องเดินทาง กลับถึงประเทศไทย และ รายงานตัวปฏิบัติงาน ภายใน 10 วัน  และ กรณีที่ศึกษาเกินกว่า 1 ปี ขึ้นไป ต้องเดินทางกลับถึงประเทศไทย และรายงานตัวปฏิบัติงาน ภายใน 20 วัน 

การพิจารณาว่าศึกษาเกินกว่า 1 ปีหรือไม่ ให้เริ่มนับจาก วันที่เดินทางมาถึงประเทศที่ศึกษาจนถึงวันที่ส่งวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ หรือวันสอบเสร็จ หรือวันที่เสนอผลงานเสร็จ วันใดวันหนึ่งที่เป็นลำดับสุดท้าย (ไม่ใช่วันสิ้นสุดของหลักสูตรที่ระบุใน Offer Letter หรือกำหนดการส่งวิทยานิพนธ์ที่ระบุในเอกสารของหลักสูตร)

เอกสารประกอบการพิจารณา

  1. แบบคำขอแจ้งการเดินทางกลับประเทศไทยถาวร
  2. ผลการศึกษาล่าสุด (สามารถ save PDF/Print screen จากหน้า website สถานศึกษาได้)
  3. หลักฐานการส่งวิทยานิพนธ์ หรือ กำหนดการนำเสนองาน (viva/Presentation) หรือ กำหนด/ตารางสอบ (กรณีที่ไม่มีวิทยานิพนธ์)
  4. หน้าปกและบทคัดย่อวิทยานิพนธ์ (Front page and Abstract) (กรณี ที่มีการส่งวิทยานิพนธ์)
  5. สำเนาตั๋วเดินทางกลับประเทศไทย(กรณี ไม่ได้จองตั๋วฯ กับ สนร.)

3. ระดับปริญญาเอก: สำหรับนักเรียนทุนที่ส่งวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ หรือ สอบผ่าน viva แก้ไขไม่เกิน 6 เดือน และประสงค์กลับไปแก้ไขวิทยานิพนธ์ที่ประเทศไทย

ในกรณีที่นักเรียนทุนสอบผ่าน viva โดยที่ไม่ต้องมีการแก้ไขวิทยานิพนธ์ หรือหากต้องแก้ไข ให้ถือวันส่งวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ เป็นวันเสร็จสิ้นการศึกษา และนักเรียนทุนจะต้องเดินทาง กลับถึงประเทศไทยและรายงานตัวปฏิบัติงาน ภายใน 20 วัน นับถัดจากวันเสร็จสิ้นการศึกษา

เอกสารประกอบการพิจารณา

  1. แบบคำขอแจ้งการเดินทางกลับประเทศไทยถาวร
  2. หลักฐานการส่งวิทยานิพนธ์
  3. หนังสือแจ้งผลสอบViva
  4. หน้าปกและบทคัดย่อวิทยานิพนธ์ล่าสุด (Front page and Abstract)
  5. สำเนาตั๋วเดินทางกลับประเทศไทย(กรณี ไม่ได้จองตั๋วฯ กับ สนร.)

การแจ้งการเดินทางกลับประเทศไทยถาวร กรณียุติการศึกษา

กรุณาติดต่อฝ่ายการศึกษาเพื่อวางแผนวันเดินทางและดำเนินการขอยุติการศึกษาใน กรณี ดังต่อไปนี้

  • ระดับปริญญาตรี: เดินทางกลับประเทศไทยถาวรก่อนทราบผลการศึกษาอย่างไม่เป็นทางการ (Provisional Result)
  • ระดับปริญญาโท: เดินทางกลับประเทศไทยถาวรก่อนส่งวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ หรือวันสอบวันสุดท้าย หรือเสนอผลงานวันสุดท้าย
  • ระดับปริญญาเอก: ยังมิได้ส่งวิทยานิพนธ์ฉบับร่าง หรือยังมิได้สอบป้องกันวิทยานิพนธ์ หรือมีผลการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ต้องแก้ไขเกินกว่า 6 เดือน
  • ไม่ประสงค์ศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศ

เอกสารประกอบการพิจารณา

  1. แบบคำขอแจ้งการเดินทางกลับประเทศไทยถาวร
  2. เอกสารอาจารย์ที่ปรึกษา แจ้งกำหนดการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์โดยคร่าว /กำหนดการส่งฉบับร่าง/ กำหนดการแก้ไขวิทยานิพนธ์ เกิน 6 เดือน
  3. เอกสารยืนยันการส่งวิทยานิพนธ์ฉบับร่าง (หากมี)
  4. สำเนาหน้าปกและบทคัดย่อวิทยานิพนธ์
  5. เอกสารอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

การรายงานตัวกับสำนักงาน ก.พ.

นักเรียนทุนจะต้องรีบรายงานตัวต่อสำนักงาน ก.พ. ในโอกาสแรกที่เดินทางถึงประเทศไทย โดยส่งหลักฐานการสำเร็จการศึกษา ฝึกอบรม จากสถานศึกษา เช่น ประกาศนียบัตร หรือหนังสือรับรองว่าสำเร็จการศึกษา/การฝึกอบรม หรือหนังสือรับรองจากคณะกรรมการมหาวิทยาลัย/อาจารย์ที่ปรึกษา ว่าสอบผ่านวิทยานิพนธ์หรือส่งวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์แล้ว หรือสำเร็จการฝึกอบรมโดยสมบูรณ์แล้ว และตั๋วโดยสารเครื่องบิน ฯลฯ

การรายงานตัวกับต้นสังกัด

นักเรียนทุนที่มีสถานะเป็นข้าราชการหรือพนักงานของรัฐก่อนเดินทางที่ปฏิบัติงานในสังกัดเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะต้องรายงานตัวกับต้นสังกัดภายในวันถัดจากวันที่เดินทางกลับถึงประเทศไทย สำหรับผู้ที่มีสถานะเป็นข้าราชการหรือพนักงานของรัฐก่อนเดินทางที่ปฏิบัติงาน ณ ต่างจังหวัดจะต้องรายงานตัวกับต้นสังกัดไม่เกิน 2 วัน นับจากวันที่เดินทางกลับถึงประเทศไทย

การดำเนินการส่งตัวเข้าปฏิบัติราชการ

เมื่อสำนักงาน ก.พ. ได้รับแบบรายงานตัวและเอกสารครบถ้วนแล้ว จะดำเนินการส่งตัวนักเรียนเข้าปฏิบัติราชการชดใช้ทุน ซึ่งแยกการดำเนินการออกเป็น 2 กรณี คือ

  1. ในกรณีที่นักเรียนทุนที่สำเร็จการศึกษา มีสถานภาพเป็นข้าราชการหรือพนักงานของรัฐก่อนเดินทาง สามารถออกหนังสือส่งตัวนักเรียนทุนรัฐบาลไปปฏิบัติราชการชดใช้ทุนในหน่วยงานเจ้าสังกัดได้ทันที
  2. ในกรณีที่นักเรียนทุนที่ยังไม่เป็นบุคลากรภาครัฐ นักเรียนต้องส่งเอกสารสำเร็จการศึกษาให้สำนักงาน ก.พ. ก่อนจึงจะออกหนังสือส่งตัวนักเรียนทุนรัฐบาลไปปฏิบัติราชการชดใช้ทุนในหน่วยงานเจ้าสังกัด

 

 

กรณีนักเรียนทุนประสงค์จะลาออกจากการเป็นนักเรียนทุนของรัฐบาลสามารถกระทำโดย การบอกเลิกสัญญาเกี่ยวกับการรับทุนรัฐบาลเพื่อศึกษาวิชาในต่างประเทศที่นักเรียนทุนทำผูกพันไว้กับทางราชการได้ โดยมีหนังสือแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรถึง สนร. หรือ สกพ. หรือ แหล่งทุน ทั้งนี้ การลาออกดังกล่าวจะมีผลให้นักเรียนเป็นผู้ผิดสัญญา ซึ่งนักเรียนและผู้ค้ำประกัน จะต้องชดใช้เงินทุนรัฐบาลและเบี้ยปรับให้แก่ทางราชการตามที่สัญญากำหนดต่อไป กรณี นักเรียนทุนเป็นข้าราชการ/พนักงานของรัฐ ต้องติดต่อหน่วยงานต้นสังกัดเพื่อดำเนินการตามระเบียบราชการต่อไป หากนักเรียนทุนมีข้อสงสัยประการใด โปรดติดต่อ สนร. หรือ สกพ. หรือ หน่วยงานต้นสังกัดเจ้าของทุน ก่อนที่จะตัดสินใจลาออก