หลักเกณฑ์การศึกษาสำหรับนักเรียนทุน
นักเรียนทุนที่ศึกษาในสหราชอาณาจักรและสาธารณรัฐไอร์แลนด์ควรศึกษาหลักเกณฑ์การศึกษาสำหรับนักเรียนทุน (ด้านล่าง) โดยละเอียดก่อนการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้การศึกษาและการดำเนินชีวิตระหว่างศึกษาในต่างประเทศเป็นไปอย่างราบรื่นมากที่สุด หากมีความไม่ชัดเจนในรายละเอียดประการใด หรือต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อฝ่ายการศึกษา สนร. อังกฤษ ก่อนการดำเนินการ
ด้วยความปรารถนาดี
สนร.อังกฤษ
นักเรียนทุนสามารถกดลิงค์เพื่อกรอกแบบคำขอด้านการศึกษาได้ โดยขอให้ศึกษาหลักเกณฑ์การศึกษาสำหรับนักเรียนทุน (ด้านล่าง) ให้ชัดเจนก่อนแล้วจึงกรอกข้อมูล เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นในภายหลัง
สำหรับนักเรียนทุนที่เดินทางมาศึกษา ณ สหราชอาณาจักร หรือสาธารณรัฐไอร์แลนด์ เมื่อเดินทางถึงประเทศที่ศึกษาแล้ว กรุณาจัดส่งเอกสารรายงานตัวให้ สนร. ทางอีเมล scholars@oeauk.net หรือสามารถรายงานตัวด้วยตนเองที่ สนร. อังกฤษ (Office of Educational Affairs, The Royal Thai Embassy (OEA), 28 Princes Gate, London, SW7 1PT) ในโอกาสแรกที่จะทำได้ เพื่อให้ สนร. สามารถดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปได้ เช่น การชำระค่าเล่าเรียน การโอนค่าใช้จ่ายประจำเดือน โดยขอให้ส่งเอกสารประกอบรายงานตัวลงทะเบียนตามรายละเอียดด้านล่างนี้
หลักเกณฑ์การพิจารณาและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
- เมื่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายการศึกษา ได้รับเอกสารรายงานตัวนักเรียนทุนใหม่และเอกสารประกอบแล้ว จะดำเนินการลงทะเบียนนักเรียนทุนใหม่ในระบบของ สนร. และจะแจ้งรหัสประจำตัว พร้อมรายละเอียดหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้นักเรียนทุนทราบทางอีเมล
- หากนักเรียนทุนหรือต้นสังกัด ได้จ่ายเงินมัดจำค่าเล่าเรียน (Deposit) หรือค่าเล่าเรียนให้กับสถานศึกษาโดยตรงแล้ว โปรดแจ้งให้ สนร. ทราบ เพื่อการดำเนินการที่ถูกต้องต่อไป
- ในกรณีที่สถานศึกษาต้องการหนังสือรับรองสถานภาพนักเรียนทุน สนร. จะดำเนินการออกหนังสือรับรองทางการเงิน (Financial Guarantee Letter) เพื่อให้ นทร. นำไปยื่นกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของมหาวิทยาลัยประกอบการลงทะเบียนเรียน และมหาวิทยาลัยจะส่งใบเรียกเก็บเงินค่าเล่าเรียนมาที่ สนร. โดยตรง กรณี ศึกษาหลักสูตรที่มีระยะเวลาศึกษาเกินกว่า 1 ปี สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ สนร. เพื่อขอเอกสารรับรองดังกล่าว ประกอบการลงทะเบียนศึกษาในแต่ละปีการศึกษา
- กรณีที่ ศึกษาหลักสูตรภาษาอังกฤษก่อนเริ่มศึกษาหลักสูตรหลัก เมื่อสอบผ่านหลักสูตรดังกล่าวแล้ว โปรดส่งผลการเรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษ พร้อมกับดำเนินการขอ Financial guarantee Letter สำหรับหลักสูตรหลัก โดยการกรอกแบบคำขอรับรองสถานภาพนักเรียนทุนรัฐบาล พร้อมแนบเอกสาร Unconditional Offer ที่ระบุค่าเล่าเรียน สนร. จะดำเนินการออกหนังสือรับรองทางการเงิน (Financial Guarantee Letter) ให้ เพื่อนำไปยื่นให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยจะส่งใบเรียกเก็บเงินค่าเล่าเรียนมาที่ สนร. โดยตรง (กรณีที่ต้องขอวีซ่าใหม่ ให้เลือกขอเอกสารรับรองในการขอวีซ่าในแบบคำร้องเดียวกัน พร้อมแนบเอกสาร CAS Statement และ Unconditional offer)
เอกสารประกอบการรายงานตัวลงทะเบียนในระบบของ สนร. ดังนี้
- แบบรายงานตัวมาศึกษา ณ สหราชอาณาจักร ที่ได้รับจากสำนักงาน ก.พ.
- แบบรายงานตัวสำหรับนักเรียนทุนรัฐบาลใหม่ของ สนร. (Registration Form for Scholarship Student)
- สำเนาหนังสือจากต้นสังกัดที่อนุมัติระยะเวลาลาศึกษาต่อ (กรณีข้าราชการ/เจ้าหน้าที่ภาครัฐ)
- สำเนาหนังสือเดินทางหน้าแรกที่มีรายละเอียดส่วนตัว
- สำเนาหนังสือเดินทางที่ประทับตรา “วันที่เดินทางมาถึง” สหราชอาณาจักร หรือ Boarding Pass (กรณีไม่มีการประทับตรา)
- สำเนา BRP Card (หากมี)
- สำเนาเอกสาร/อีเมล จาก UKVI แสดงสถานะ Immigration status ที่ระบุระยะเวลาของวีซ่านักเรียนทุน
- สำเนาจดหมายตอบรับเข้าศึกษาของมหาวิทยาลัย ที่ระบุค่าเล่าเรียนอย่างชัดเจน (Offer Letter)
- CAS Statement
- สำเนาจดหมายตอบรับเข้าศึกษาหลักสูตรภาษาอังกฤษ (Pre-sessional course) (กรณีที่ได้รับตอบรับแบบมีเงื่อนไข Conditional offer)
นักเรียนทุนจะต้องลงทะเบียนศึกษาแบบเต็มเวลา (Full Time) โดยเลือกวิชาศึกษาให้ตรงตามโครงการศึกษา และแนวการปฏิบัติงานหลังสำเร็จการศึกษาตามความต้องการของต้นสังกัด หากมีความจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงแนวการศึกษาหรือย้ายสถานศึกษา กรุณาหารือกับเจ้าหน้าที่ สนร. เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนที่ถูกต้องและเพื่อนำเสนอผู้มีอำนาจอนุมัติตามระเบียบ เมื่อได้รับการอนุมัติแล้ว จึงจะสามารถเปลี่ยนแปลงแนวการศึกษาหรือย้ายสถานศึกษาได้
หลักเกณฑ์การพิจารณาและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง (กรณีย้ายสถานศึกษา)
- เป็นผู้ที่สำนักงาน ก.พ. หรือต้นสังกัดมิได้กำหนดสถานศึกษาสำหรับผู้นั้นไว้เป็นกรณีพิเศษให้เข้าศึกษา ณ สถานศึกษาแห่งใดแห่งหนึ่งโดยเฉพาะ
- การย้ายสถานศึกษาจะไม่ทำให้ต้องเปลี่ยนแนวการศึกษาให้ผิดไปจากแนวการศึกษาที่ สำนักงาน ก.พ. ได้อนุมัติหรือกำหนดไว้
- สถานศึกษาที่ย้ายไปใหม่ ต้องมีมาตรฐานการศึกษาในระดับที่จะได้รับการพิจารณาคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าเดิม
- การย้ายสถานศึกษาต้องไม่ทำให้เสียเวลาศึกษาเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมเกินสมควร
- การย้ายสถานศึกษาต้องไม่ทำให้งบประมาณค่าใช้จ่ายเกินอัตราที่ สำนักงาน ก.พ. กำหนดไว้
หลักเกณฑ์การพิจารณาและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง (กรณีย้ายประเทศศึกษา)
- มีผลการเรียนดี
- มหาวิทยาลัยที่จะศึกษาจะต้องมีชื่อเสียงในสาขาวิชาที่ศึกษา
- แหล่งทุนและต้นสังกัดเห็นชอบ
หมายเหตุ : สำหรับทุนด้านวิทยาศาสตร์ฯ แหล่งทุนไม่สนับสนุนให้นักเรียนทุนย้ายประเทศที่ศึกษาระหว่างที่กำลังศึกษา ณ ต่างประเทศ
การจัดสรรค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่าย สามารถจำแนกได้เป็น 2 ช่วง ได้แก่ ค่าใช้จ่ายก่อนการเดินทาง และค่าใช้จ่ายระหว่างการศึกษา ณ ต่างประเทศ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. ค่าใช้จ่ายก่อนเดินทาง จำนวน 220,000 บาท ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก่อนที่จะเดินทางไปศึกษา ณ ต่างประเทศ เช่น ค่าใช้จ่ายเตรียมตัวก่อนเดินทาง ค่าคอมพิวเตอร์ ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับการสอบตามข้อกำหนดของ สถานศึกษา อาทิ IELTS TOFEL GMAT GRE ค่าสมัครสถานศึกษา ค่าธรรมเนียมหนังสือเดินทาง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขอวีซ่า ค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินในการเดินทางไปศึกษา ค่าตรวจร่างกายและอนามัย ค่าเครื่องแต่งกาย ค่าประกันการเดินทาง ค่าพาหนะ ค่าระวางขนส่งสิ่งของ และค่าใช้จ่ายส่วนตัว ฯลฯ
2. ค่าใช้จ่ายระหว่างศึกษาในต่างประเทศ จ่ายในอัตราตามเมืองที่ศึกษา ดังนี้
- อัตราในกรุงลอนดอน จำนวน 22,200 ปอนด์ต่อการศึกษาตลอดหลักสูตร
- อัตรานอกกรุงลอนดอน จำนวน 19,500 ปอนด์ต่อการศึกษาตลอดหลักสูตร
ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในระหว่างการศึกษาในต่างประเทศ ประกอบด้วย ค่าใช้จ่าย 3 ส่วน คือ
2.1 ค่าใช้จ่ายช่วงแรกของการเดินทางไปศึกษา เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ค่าหนังสือและอุปกรณ์การศึกษา ค่าพาหนะเดินทางระหว่างเมืองและค่าที่พัก กรณีเข้าร่วมกิจกรรมของ สนร. ค่าใช้จ่ายกิจกรรม Field Trip ค่าใช้จ่ายกิจกรรมการพัฒนาเสริมสร้างประสบการณ์ ค่าใช้จ่ายในการประชุมทางวิชาการเพื่อนำเสนอผลงาน/สัมมนาทางวิชาการ ฯลฯ
2.2 ค่าใช้จ่ายเมื่อเดินทางมาศึกษาแล้ว เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ค่าหนังสือและอุปกรณ์การศึกษา ค่าพาหนะเดินทางระหว่างเมืองและค่าที่พัก กรณีเข้าร่วมกิจกรรมของ สนร. ค่าใช้จ่ายกิจกรรม Field Trip ค่าใช้จ่ายกิจกรรมการพัฒนาเสริมสร้างประสบการณ์ ค่าใช้จ่ายในการประชุมทางวิชาการเพื่อนำเสนอผลงาน/สัมมนาทางวิชาการ ฯลฯ
2.3 ค่าใช้จ่ายเมื่อเสร็จสิ้นการศึกษา เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าระวางขนส่งสิ่งของกลับประเทศไทย และค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินกลับประเทศไทย ฯลฯ
การรับค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่าย นักเรียนจะได้รับค่าใช้จ่ายทั้งหมด 4 งวด รายละเอียด ดังนี้
งวดที่ 1: ค่าใช้จ่ายก่อนเดินทาง (ครั้งที่ 1) จำนวน 100,000 บาท จะได้รับหลังจากที่ลงนามสัญญารับทุนและพร้อมที่จะเดินทางไปศึกษา ซึ่งจะเบิกจ่ายโดยกลุ่มงานคลัง สำนักงาน ก.พ.
งวดที่ 2: เมื่อนักเรียนได้รับวีซ่าเรียบร้อยแล้วและมีตั๋วโดยสารเครื่องบินพร้อมที่จะเดินทางไปศึกษา นักเรียนทุนดำเนินการแจ้ง ศกศ. ว่าพร้อมที่จะเดินทางไปศึกษา และเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายกับกลุ่มงานคลังฯ 2 ส่วน ดังนี้
- ส่วนที่ 1: ค่าใช้จ่ายก่อนเดินทาง (ครั้งที่ 2) จำนวน 120,000 บาท
- ส่วนที่ 2: ค่าใช้จ่ายช่วงแรกของการเดินทางไปศึกษา ในสัดส่วนร้อยละ 25 (สกุลเงินบาท) ของค่าใช้จ่ายระหว่างศึกษาในต่างประเทศในอัตราตามเมืองที่ศึกษา
งวดที่ 3: ค่าใช้จ่ายเมื่อเดินทางมาศึกษาแล้ว ในสัดส่วนร้อยละ 70 (สกุลเงินปอนด์) ของค่าใช้จ่ายระหว่างศึกษาในต่างประเทศในอัตราตามเมืองที่ศึกษา โดย สนร. อังกฤษ จะโอนเข้าบัญชีของนักเรียนทุนในช่วงปลายเดือนธันวาคม หลังจากที่ สนร. อังกฤษ ได้รับเอกสารยืนยันการลงทะเบียนศึกษา (Enrolment letter/Student status letter) จากนักเรียนทุนครบถ้วนแล้ว
งวดที่ 4: ค่าใช้จ่ายเมื่อเสร็จสิ้นการศึกษา ในสัดส่วนร้อยละ 5 (สกุลเงินปอนด์) ของค่าใช้จ่ายระหว่างศึกษาในต่างประเทศในอัตราตามเมืองที่ศึกษา (สกุลเงินปอนด์) โดย สนร. อังกฤษ จะโอนเข้าบัญชีของนักเรียนทุน ภายใน 10 วันทำการ หลังจากที่ สนร. อังกฤษ ได้รับเอกสารแจ้งเสร็จสิ้นการศึกษาครบถ้วนแล้ว ยกเว้นกรณี ยุติการศึกษา นักเรียนทุนจะไม่ได้รับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้
ข้อกำหนดและเงื่อนไขในการรับค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่าย
- ค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่ายไม่ครอบคลุมถึง ค่าเงินมัดจำสถานศึกษา ค่าเล่าเรียน และค่าธรรมเนียมการศึกษา ให้เบิกจ่ายได้ตามที่สถานศึกษาเรียกเก็บ
- อัตราค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่ายข้างต้น ไม่ใช้บังคับกับผู้ได้รับทุนในระหว่างที่กำลังศึกษาในสถาบันการศึกษา ณ ต่างประเทศ
- นักเรียนทุนที่ได้รับค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่ายแล้ว จะไม่สามารถขอเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่มเติมได้อีก
- กรอบระยะเวลาทุนรัฐบาลของนักเรียนทุนจะกำหนดเท่ากับกรอบระยะเวลาที่หลักสูตรกำหนด (Course End Date) เท่านั้น หากนักเรียนทุนไม่สำเร็จการศึกษาภายในระยะเวลาที่หลักสูตรกำหนด จะไม่ได้รับค่าใช้จ่ายระหว่างศึกษาในต่างประเทศเพิ่มเติมอีก แต่สามารถขอศึกษาต่อด้วนทุนส่วนตัวได้ และจะได้รับค่าใช้จ่ายงวดที่ 4 ก็ต่อเมื่อเสร็จสิ้นการศึกษาในต่างประเทศแล้วเท่านั้น ทั้งนี้ ให้รวมถึงนักเรียนทุนที่ได้รับทุนการศึกษามาก่อนปี พ.ศ. 2565 ด้วย
- กรณีที่นักเรียนทุนได้รับอนุมัติให้ยุติการศึกษาในต่างประเทศ เช่น กรณีเจ็บป่วย กรณีกลับไปเขียนวิทยานิพนธ์ที่ประเทศไทย ซึ่งทำให้ไม่อาจเสร็จสิ้นการศึกษาภายในระยะเวลาที่หลักสูตรกำหนดได้ สนร. อังกฤษ จะคำนวณเพื่อเรียกคืนเงินค่าใช้จ่ายระหว่างศึกษาในต่างประเทศที่นักเรียนทุนได้รับไปเกินสิทธิ์ โดยคำนวณจำนวนเงินที่จะต้องชำระคืนเป็นรายวัน นับตั้งแต่วันที่ยุติการศึกษาไปจนถึงวันที่สิ้นสุดหลักสูตร และหักค่าใช้จ่ายระหว่างศึกษาในต่างประเทศในงวดที่ยังไม่ได้รับ
- กรณีนักเรียนทุนปฏิบัติผิดสัญญารับทุน เช่น ถูกให้ออกจากสถานศึกษา หรือมีเหตุให้ต้องลาออกจากสถานศึกษาก่อนสำเร็จการศึกษา สนร. จะเรียกคืนเงินค่าใช้จ่ายรับเกินสิทธิ์จากนักเรียนทุน (กรณีมีเงินรับเกินสิทธิ์) และสำนักงาน ก.พ. จะคำนวณหนี้ทุน และเรียกให้นักเรียนทุนชดใช้หนี้ทุนตามสัญญารับทุนต่อไป
นักเรียนทุนที่อยู่ในความดูแลของ สนร. จะต้องรายงานความก้าวหน้าในการศึกษาตามระบบของ สนร. อังกฤษ 4 ครั้ง รายละเอียดตามระดับหลักสูตรที่ศึกษารายละเอียด ดังนี้
1. ปริญญาตรี ปริญญาตรีควบโท และปริญญาโท
1.1 กรอกแบบรายงานความก้าวหน้าเดือนมีนาคม และเดือนกันยายน* และส่งเอกสารประกอบการรายงานความก้าวหน้าในการศึกษาให้ สนร. ทางอีเมล scholars@oeauk.net
- แบบรายงานความก้าวหน้าในการศึกษารูปแบบที่ 1
- หนังสือรับรองการลงทะเบียน Student Status Letter
- ผลการศึกษาฉบับล่าสุด
1.2 กรอกแบบรายงานความก้าวหน้าในการศึกษารูปแบบที่ 2 เดือนมิถุนายน และเดือนธันวาคม ซึ่ง สนร. จะจัดส่ง Link ให้ท่านทางอีเมลล่วงหน้าก่อนกำหนด
กรณี นักเรียนทุนระดับปริญญาโท การแจ้งเดินทางกลับประเทศไทยถาวร ถือเป็นรายงานความก้าวหน้าฯ ของเดือนกันยายน
2. A-level/Foundation Programme และ ปริญญาเอก
2.1 กรอกแบบรายงานความก้าวหน้าเดือนมิถุนายน และเดือนธันวาคม ทางอีเมล scholars@oeauk.net
- แบบรายงานความก้าวหน้าในการศึกษารูปแบบที่ 1
- หนังสือรับรองการลงทะเบียน Student Status Letter
- หนังสือรับรองอาจารย์ที่ปรึกษา ระบุความก้าวหน้าทางการศึกษา (กรณีศึกษาระดับปริญญาเอก) แบบแสดงความคิดเห็นของอาจารย์ที่ปรึกษา
2.2 กรอกแบบรายงานความก้าวหน้าในการศึกษารูปแบบที่ 2 เดือนมีนาคม และเดือนกันยายน ซึ่ง สนร. จะจัดส่ง Link ให้ท่านทางอีเมลล่วงหน้าก่อนกำหนด
นักเรียนทุนทุกคนจะได้รับข้อมูลระยะเวลาการรับทุนการศึกษาของตนเองตามที่สำนักงาน ก.พ. อนุมัติในครั้งแรก หรือตามที่ สนร. อนุมัติขยายเวลาศึกษาให้ หากใกล้ครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว จะต้องยื่นแบบขอขยายเวลาศึกษา พร้อมชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการขยายเวลาศึกษา โดยดำเนินการจัดส่งแบบคำขอขยายเวลาศึกษา พร้อมกับเอกสารประกอบการพิจารณา ให้ สนร. สามารถดำเนินการล่วงหน้าได้อย่างน้อย 60 วัน แต่ไม่เกิน 90 วันก่อนที่ระยะเวลาการศึกษาจะครบกำหนด
เอกสารประกอบการพิจารณา
- แบบคำขอขยายเวลาศึกษา
- Student Status Letter (สำหรับทุกระดับการศึกษา) สามารถขอได้จาก Student Office/ Graduate Office/ Admission Office/ Research Office ซึ่งจะระบุระยะเวลาที่เริ่มลงทะเบียนและระยะเวลาที่คาดว่าจะสำเร็จการศึกษา
- กำหนดการแจ้งผลการศึกษาอย่างไม่เป็นทางการ (กรณีศึกษาระดับปริญญาตรี)
- ผลการศึกษาฉบับล่าสุด หรือ จดหมายจากอาจารย์ที่ปรึกษา (กรณีศึกษาระดับปริญญาตรี และปริญญาโท)
- กำหนดการส่งวิทยานิพนธ์ (กรณีศึกษาระดับปริญญาโท)
- หนังสือรับรองอาจารย์ที่ปรึกษา ระบุความก้าวหน้าในการศึกษาและกำหนดเวลาที่จะสำเร็จการศึกษา (กรณีศึกษาระดับปริญญาโท by research และปริญญาเอก) (แบบแสดงความคิดเห็นของอาจารย์ที่ปรึกษา)
แบบแสดงความคิดเห็นของอาจารย์ที่ปรึกษา
กรณีต้องรอส่งวิทยานิพนธ์/ส่งวิทยานิพนธ์แล้ว และจำเป็นจะต้องรอผลการตรวจวิทยานิพนธ์ หรือสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ (VIVA) ควรจะมีระยะเวลาที่ระบุชัดเจน และระยะเวลาที่คาดการว่าจะต้องสอบ VIVA ที่ชัดเจน ส่วนกรณีที่สอบป้องกันวิทยานิพนธ์แล้ว แต่ยังไม่ผ่านหรือจำเป็นที่จะต้องแก้ไขนั้น กรุณาแจ้งกำหนดการส่งวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์
นักเรียนทุนที่ได้รับทุนการศึกษาให้ศึกษาระดับปริญญาตรี-โท ปริญญาตรี-โท-เอก หรือ ปริญญาโท-เอก เมื่อสำเร็จการศึกษาในแต่ละระดับการศึกษา จะต้องดำเนินการขออนุมัติศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นกับ สนร. โดยส่งแบบคำขอศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น พร้อมเอกสารประกอบตามรายละเอียดด้านล่างนี้
หลักเกณฑ์การพิจารณาและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
- เป็นการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นตามโครงการศึกษา/แนวทางศึกษาที่แหล่งทุนหรือหน่วยงานต้นสังกัดกำหนด
- มีสถานศึกษาตอบรับแบบไม่มีเงื่อนไข
- เป็นสาขาวิชาที่สอดคล้องกับที่แหล่งทุนหรือหน่วยงานต้นสังกัดกำหนด
- สำหรับนักเรียนทุน พสวท./สสวท. นร ทุนจะต้องมีผลการเรียนแต่ละระดับตามที่เจ้าของทุนกำหนดเพื่อศึกษาต่อระดับที่สูงขึ้น ดังนี้
– ระดับปริญญาตรี ต้องมีผลการเรียน อย่างต่ำ 57.20% ในการศึกษาต่อระดับปริญญาโท
– ระดับปริญญาโท ต้องมีผลการเรียน อย่างต่ำ 66.00% ในการศึกษาต่อระดับปริญญาเอก
- สำหรับนักเรียนทุนปริญญาเอกที่ลงทะเบียนเรียนระดับ MPhil เมื่อผ่านการประเมินเปลี่ยนระดับการศึกษาเป็น PhD กรุณาแจ้งให้ สนร. ทราบทางอีเมล
- ในการเปลี่ยนระดับการศึกษา นักเรียนทุนจะต้องขอวีซ่านักเรียนใหม่ กรุณาศึกษาขั้นตอนการขอวีซ่าตามกฎ UKVI และศึกษาหลักเกณฑ์การเบิกค่าวีซ่าของ สนร. ได้จาก หลักเกณฑ์การเบิกค่าใช้จ่ายสำหรับนักเรียนทุน
- นักเรียนทุนสามารถขอเอกสารประกอบการขอวีซ่านักเรียนได้ ขึ้นอยู่กับประเทศที่ขอวีซ่า ดังนี้
– สหราชอาณาจักร หรือ สาธารณรัฐไอร์แลนด์ ขอเอกสารรับรองสถานภาพการเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลเพื่อใช้ประกอบการขอวีซ่านักเรียนจาก สนร.
– ประเทศไทย ขอเอกสารรับรองสถานภาพการเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลเพื่อใช้ประกอบการขอวีซ่านักเรียนจากสำนักงาน ก.พ.
- กรณีมีการย้ายเมืองที่ศึกษา เมื่อได้รับอนุมัติให้ศึกษาในระดับที่สูงขึ้นแล้วนักเรียนทุนสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน ฯได้ที่ finance@oeauk.net หารือเรื่องค่าเดินทาง ค่าระวางขนส่งของในการย้ายสถานศึกษา และปรับฐานเงินค่าใช้จ่ายประจำเดือน
เอกสารประกอบการพิจารณา
- แบบคำขออนุมัติเปลี่ยนระดับการศึกษา
- Consent Form
- หนังสือตอบรับจากสถานศึกษา Unconditional Offer Letter
- CAS Statement
- ผลการเรียนยืนยันสำเร็จการศึกษา
- เอกสาร Research Proposal, Project approval form (กรณี ศึกษาต่อระดับปริญญาเอก)
นักเรียนทุนสามารถขอหนังสือรับรองสถานภาพการเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลจาก สนร. ได้ โดยดำเนินการยื่น แบบคำขอเอกสารรับรอง ฯ ให้ สนร. ล่วงหน้าอย่างน้อย 3-5 วันทำการ ก่อนวันที่ต้องการเอกสารรับรองฯ สนร. จะดำเนินการออกเอกสารรับรองฯ ให้ตามจุดประสงค์ของการใช้หนังสือรับรองฯ และส่งให้นักเรียนทุนทางอีเมล
ประเภทของหนังสือรับรองสถานภาพการเป็นนักเรียนทุนรัฐบาล | เอกสาร/ข้อมูล ประกอบการดำเนินการ |
1) ประกอบการลงทะเบียนศึกษา (บางสถานศึกษาต้องขอทุกปี กรณีที่หลักสูตรการศึกษาเกินกว่า 1 ปี) | – หนังสือตอบรับจากสถานศึกษาระบุ ชื่อหลักสูตร/ วันเดือนปีที่เริ่มศึกษา – เอกสารระบุค่าเล่าเรียน |
2) ประกอบการสมัครเข้าศึกษาต่อ (Admission หรือ ประกอบการขอ CAS Statement จากสถานศึกษา แทนการจ่าย Deposit ค่าเล่าเรียน) | – รายละเอียดหลักสูตรที่สมัครเข้าศึกษาต่อ (Admission) – หนังสือตอบรับแบบไม่มีเงื่อนไข Unconditional offer letter (ขอ CAS Statement) |
3) ประกอบการต่ออายุวีซ่านักเรียนทุน UK/IE | – CAS statement (UK) – หนังสือตอบรับแบบไม่มีเงื่อนไข (Unconditional offer) – หนังสือประกอบการขอวีซ่าของสถานศึกษา (Ireland) |
4) ประกอบการทำหนังสือเดินทางข้าราชการเล่มใหม่ | – สำเนา Passport เดิม – Student status letter หรือเอกสารที่ระบุวันที่คาดว่าจะเสร็จสิ้นการศึกษา |
5) ประกอบการเช่าที่อยู่อาศัย (สนร. ไม่สามารถเป็น Guarantor ในการเช่าที่อยู่อาศัยได้) | – ระบุชื่อบริษัท หรือ Agency |
นักเรียนทุนสามารถเดินทางออกนอกประเทศที่ศึกษาระหว่างศึกษาได้ ในกรณีต่าง ได้แก่ การเดินทางกลับประเทศไทยชั่วคราว การเดินทางไปทัศนศึกษา การไปเข้าร่วมประชุมทางวิชาการ หรือการเข้าร่วมกิจกรรมการพัฒนาเสริมสร้างประสบการณ์ อาทิ Field trip (เฉพาะกรณีไม่ขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจาก สนร.) โดยนักเรียนทุนจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในการเดินทางด้วยตนเอง เช่น ค่าเดินทาง ค่าวีซ่า ค่าตรวจโรค ฯลฯ และจะต้องขออนุมัติการเดินทางออกนอกประเทศที่ศึกษาในทุกกรณี โดยจะต้องได้รับการอนุมัติจาก สนร. ก่อนเดินทางทุกครั้ง ทั้งนี้ สามารถดำเนินการได้โดยจัดส่ง แบบคำขอเดินทางออกนอกประเทศที่ศึกษา ไปยัง สนร. และเมื่อได้รับการอนุมัติให้เดินทางแล้ว (ทางอีเมล) จึงจะสามารถดำเนินการจองตั๋วเดินทางได้ และจะต้องจัดส่งสำเนาการจองตั๋วเดินทางให้ สนร. ทราบ ก่อน แล้วจึงจะสามารถเดินทางออกนอกประเทศที่ศึกษาได้
หลักเกณฑ์การพิจารณาและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
- นักเรียนทุนสามารถขอเดินทางกลับประเทศไทยชั่วคราว และ/หรือ การเดินทางไปทัศนศึกษานอกประเทศศึกษาได้ในระหว่างช่วงการปิดภาคเรียน หรือหากอยู่ระหว่างช่วงเปิดภาคเรียน โดย สนร. จะพิจารณาอนุมัติการเดินทางครั้งละ ไม่เกิน 1 เดือน และจะต้องได้รับการอนุมัติจากสถานศึกษา/อาจารย์ที่ปรึกษา ระบุว่าการเดินทางจะไม่ส่งผลกระทบต่อผลการเรียน ไม่ทำให้ระยะเวลาศึกษาและงบประมาณค่าใช้จ่ายของนักเรียนทุนเพิ่มขึ้น
- กรณี เดินทางกลับประเทศไทยชั่วคราว และ/หรือ เดินทางไปทัศนศึกษานอกประเทศศึกษา นักเรียนทุนจะได้รับเงินประจำเดือนอัตราประเทศที่ศึกษาสูงสุดได้ไม่เกิน 90 วันต่อปีปฏิทิน (1 ม.ค.–31 ธ.ค.) โดยนับระยะเวลาทุกครั้งรวมกัน แต่หากการเดินทางครั้งใดมีระยะเวลาคร่อมไปในปีถัดไป ให้นับระยะเวลาการเดินทางทั้งหมดในครั้งนั้นรวมเป็นระยะเวลาการเดินทางของปีเก่า ดังนั้น หากภายในหนึ่งปีปฏิทิน นักเรียนทุนพำนักอยู่นอกประเทศศึกษารวมแล้วเกินกว่า 90 วัน จะไม่ได้รับค่าใช้จ่ายใดๆ ในฐานะนักเรียนทุนรัฐบาลตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 90 จนกว่าจะเดินทางกลับเข้าประเทศศึกษา จึงจะกลับมาได้รับเงินประจำเดือนอีกครั้ง ทั้งนี้ เมื่อเดินทางถึงประเทศไทยแล้วต้องรายงานตัวที่สำนักงาน ก.พ. ในโอกาสแรกที่จะกระทำได้ทางอีเมล
- กรณี เดินทางกลับประเทศไทยชั่วคราวพร้อมกับการเก็บข้อมูลวิทยานิพนธ์ในประเทศไทย ระยะเวลาการกลับประเทศไทยชั่วคราวจะถูกนับรวมเป็นเวลาการเก็บข้อมูลวิทยานิพนธ์ (รายละเอียดเพิ่มเติม สามารถดูได้ในหัวข้อการเก็บข้อมูลวิทยานิพนธ์)
- การเดินทางไปประชุมวิชาการ กรณี ไม่ขอเงินสนับสนุนจาก สนร. นักเรียนทุนจะต้องยื่นเอกสารตอบรับการเข้าร่วมประชุมวิชาการและแผนการเดินทาง เอกสารหรืออีเมลสนับสนุนจากอาจารย์ที่ปรึกษา
- เมื่อนักเรียนทุนเดินทางกลับถึงประเทศที่ศึกษา กรุณาแจ้งให้ สนร. ทราบโดยการส่งหน้าหนังสือเดินทางที่มีตราประทับเข้าประเทศที่เดินทางไปและประทับเข้าประเทศที่ศึกษาให้ สนร. ทางอีเมล (กรณี ไม่มีตราประทับวันที่เดินทาง กรุณาส่ง Boarding pass)
นักเรียนทุนที่มีความจำเป็นที่จะต้องเก็บข้อมูลวิทยานิพนธ์นอกประเทศที่ศึกษา ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องด้วยตนเอง เช่น ค่าตั๋ว ค่าวีซ่า ค่าตรวจโรค ฯลฯ โดยจะต้องได้รับอนุมัติการเดินทางไปเก็บข้อมูลนอกประเทศที่ศึกษาจาก สนร. รายละเอียด ดังนี้
หลักเกณฑ์การพิจารณาและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
- นักเรียนทุนจะต้องศึกษาในประเทศที่ศึกษาแล้วเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน
- สนร. จะพิจารณาการเก็บข้อมูลนอกประเทศที่ศึกษาได้สูงสุดไม่เกิน 1 ปี (รวมระยะเวลาตลอดหลักสูตรการศึกษา) หากการเก็บข้อมูลรวมเกินกว่า 1 ปี ระยะเวลาที่เกิน 1 ปี สนร. จะส่งเรื่องให้แหล่งทุนพิจารณา
- นักเรียนทุนจะได้รับอัตราเงินเดือนประเทศที่ศึกษา สูงสุดไม่เกิน 180 วัน (ครั้งเดียว 180 วัน หรือ หลายครั้งนับรวมกันไม่เกิน 180 วัน) หากระยะเวลาเก็บข้อมูลเกินกว่า 180 วัน นักเรียนทุนจะได้รับอัตราเงินเดือนของประเทศที่เดินทางไปเก็บข้อมูล
- กรณี เดินทางไปเก็บข้อมูล ณ ประเทศไทย เป็นคราวเดียวกันกับการเดินทางกลับประเทศไทยชั่วคราว ระยะเวลาการเดินทางของทั้งสองกรณีจะถูกนับรวมกันและถือเป็นการเก็บข้อมูลวิทยานิพนธ์นอกประเทศที่ศึกษา
- กรณี เดินทางไปเก็บข้อมูล ณ ประเทศไทย เมื่อเดินทางถึงประเทศไทยแล้วจะต้องรายงานตัวที่สำนักงาน ก.พ. ทางอีเมล ในโอกาสแรกที่จะกระทำได้
เมื่อนักเรียนทุนเดินทางกลับถึงประเทศที่ศึกษา กรุณาแจ้งให้ สนร. ทราบโดยการส่งหน้าหนังสือเดินทางที่มีตราประทับเข้าประเทศที่เดินทางไปและประทับเข้าประเทศที่ศึกษาให้ สนร. ทางอีเมล (กรณี ไม่มีตราประทับวันที่เดินทาง กรุณาส่ง Boarding pass)
โปรดศึกษา หลักเกณฑ์การเบิกค่าใช้จ่ายสำหรับนักเรียนทุนประกอบการดำเนินการด้วย
เอกสารประกอบการพิจารณา
- แบบคำขออนุญาตไปเก็บข้อมูลวิทยานิพนธ์นอกประเทศที่ศึกษา
- กำหนดการและแผนการเก็บข้อมูลวิทยานิพนธ์โดยสังเขป ซึ่งระบุสถานที่ ระยะเวลาที่ใช้ในการเก็บข้อมูล
- จดหมายจากอาจารย์ที่ปรึกษา รับรองการให้กลับไปเก็บข้อมูลนอกประเทศที่ศึกษา
- หนังสือรับรองสถานภาพนักศึกษา
นักเรียนทุนที่มีความจำเป็นจะต้องเข้าร่วมประชุมทางวิชาการ และประสงค์ขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่าย จะต้องได้รับอนุมัติจาก สนร. ก่อนการเข้าร่วมประชุมทางวิชาการ โดยสามารถดำเนินการตามกรณี ต่างๆ ดังนี้
กรณีเป็นข้อบังคับของหลักสูตร
นักเรียนทุนสามารถขอเข้าร่วมประชุมทางวิชาการตามข้อบังคับของหลักสูตรได้ ทั้งนอกและในประเทศที่ศึกษา และนักเรียนทุนสามารถขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องได้ในอัตราประหยัด ตามที่จ่ายจริง เช่น ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าที่พักในอัตราประหยัด ค่าลงทะเบียน ค่าวีซ่า ค่าตรวจโรค (หากมี) ฯลฯ ทั้งนี้ หากนักเรียนทุนได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากสถานศึกษาหรือองค์กรอื่นแล้ว จะไม่สามารถขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในรายการเดียวกันได้อีก
หลักเกณฑ์การพิจารณาและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
- นักเรียนทุนจะต้องศึกษาด้วยทุนรัฐบาลในระหว่างเข้าร่วมประชุมทางวิชาการ
- นักเรียนทุนจะต้องมีการเสนอผลงานในรูปแบบ Oral Presentation หรือ Poster
- สถานศึกษาไม่ได้เรียกเก็บค่าประชุมทางวิชาการจาก สนร. อยู่ก่อนแล้ว
- กรณี นักเรียนทุนระดับปริญญาเอก สามารถขอเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายได้ จำนวน 1 ครั้งต่อหลักสูตรการศึกษา ยกเว้น นักเรียนทุนที่ได้รับทุนการศึกษาตั้งแต่งบประมาณประจำปี 2565 เป็นต้นไป สามารถขอเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายได้ จำนวน 2 ครั้งต่อหลักสูตรการศึกษา และจำนวน 1 ครั้งสำหรับระดับปริญญาโท
- เมื่อนักเรียนทุนเดินทางกลับถึงประเทศที่ศึกษา กรุณาแจ้งให้ สนร. ทราบโดยการส่งหน้าหนังสือเดินทางที่มีตราประทับเข้าประเทศที่เดินทางไปและประทับเข้าประเทศที่ศึกษาให้ สนร. ทางอีเมล (กรณี ไม่มีตราประทับวันที่เดินทาง กรุณาส่ง Boarding pass) และดำเนินการเบิกค่าใช้จ่ายตามที่ได้รับอนุมัติกับฝ่ายการเงิน โดยศึกษารายละเอียดได้จาก หลักเกณฑ์การเบิกค่าใช้จ่ายสำหรับนักเรียนทุน
เอกสารประกอบการพิจารณา
- แบบคำขอเข้าร่วมประชุมทางวิชาการ หรือ กิจกรรมการพัฒนาเสริมสร้างประสบการณ์ กรณีขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่าย
- จดหมายตอบรับการเข้าร่วมประชุมฯ จากองค์กรที่จัดการสัมมนานั้น โดยระบุช่วงเวลาการสัมมนา
- จดหมายแสดงความเห็นชอบในการเข้าร่วมประชุมฯ จากอาจารย์ที่ปรึกษา
- สำเนาบทความหรืองานวิจัยที่ได้รับการตอบรับให้นำเสนอผลงานในการเข้าร่วมประชุมวิชาการ
- เอกสารชี้แจงหลักสูตรการศึกษาระบุว่าการเข้าร่วมประชุมทางวิชาการเป็นข้อบังคับของหลักสูตร
- รายละเอียดกำหนดการการประชุมทางวิชาการ
- กรณี ขอค่าเดินทาง ยื่นเอกสารเปรียบเทียบราคาตั๋วเครื่องบิน 3 สายการบิน (อัตราประหยัด)
- กรณี ขอค่าที่พัก ยื่นเอกสารเปรียบเทียบราคาที่พัก 3 แห่ง (ไม่เกิน 3 ดาว) (อัตราประหยัด)
- กรณี ขอค่าลงทะเบียน ยื่นเอกสารระบุค่าลงทะเบียน
- กรณี ขอค่าวีซ่า ยื่นเอกสารระบุค่าใช้จ่ายวีซ่า
- กรณี ขอสนับสนุนค่าใช้จ่ายค่าตรวจโรค ยื่นเอกสารข้อบังคับการตรวจโรค จากประเทศที่เข้าร่วมประชุม และรายละเอียดค่าจ่ายในการตรวจโรค
กรณีไม่เป็นข้อบังคับของหลักสูตร
นักเรียนทุนที่ประสงค์เข้าร่วมประชุมทางวิชาการ ที่มิใช่ข้อบังคับของหลักสูตร ทั้งนอกและในประเทศที่ศึกษา และประสงค์ขอเงินสนับสนุนค่าใช้จ่าย จะสามารถขอสนับสนุนค่าใช้จ่ายได้เฉพาะค่าลงทะเบียนในการประชุมวิชาการ ทั้งนี้ หากนักเรียนทุนได้รับการสนับสนุนค่าลงทะเบียนจากสถานศึกษาหรือองค์กรอื่นแล้ว จะไม่สามารถขอรับการสนับสนุนค่าลงทะเบียนได้อีก และนักเรียทุนจะต้องได้รับอนุมัติการสนับสนุนค่าลงทะเบียนในการประชุมวิชาการ จาก สนร. หรือแหล่งทุนก่อนการประชุมฯ หากดำเนินการขอสนับสนุนค่าใช้จ่ายหลังจากการประชุมฯ เสร็จสิ้นแล้ว จะไม่ได้รับการพิจารณาการสนับสนุนค่าใช้จ่ายดังกล่าว
หลักเกณฑ์การพิจารณาและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
- นักเรียนทุนต้องศึกษาด้วยทุนรัฐบาลในระหว่างเข้าร่วมประชุมทางวิชาการ
- นักเรียนทุนจะต้องมีการเสนอผลงานในรูปแบบ Oral Presentation หรือ Poster
- สถานศึกษาไม่ได้เรียกเก็บค่าประชุมทางวิชาการจาก สนร. อยู่ก่อนแล้ว
- กรณี นักเรียนทุนระดับปริญญาเอก สามารถขอเงินสนับสนุนค่าลงทะเบียน ได้ 1 ครั้งต่อหลักสูตรการศึกษา ยกเว้น นักเรียนทุนระดับปริญญาโท ที่ได้รับทุนการศึกษาตั้งแต่งบประมาณประจำปี 2565 เป็นต้นไป สามารถขอเงินสนับสนุนค่าลงทะเบียน ได้ 1 ครั้งต่อหลักสูตรการศึกษา
- เมื่อนักเรียนทุนเดินทางกลับถึงประเทศที่ศึกษา กรุณาแจ้งให้ สนร. ทราบโดยการส่งหน้าหนังสือเดินทางที่มีตราประทับเข้าประเทศที่เดินทางไปและประทับเข้าประเทศที่ศึกษาให้ สนร. ทางอีเมล (กรณี ไม่มีตราประทับวันที่เดินทาง กรุณาส่ง Boarding pass) และดำเนินการเบิกค่าใช้จ่ายตามที่ได้รับอนุมัติกับฝ่ายการเงิน โดยศึกษารายละเอียดได้จาก หลักเกณฑ์การเบิกค่าใช้จ่ายสำหรับนักเรียนทุน
เอกสารประกอบการพิจารณา
- แบบคำขอเข้าร่วมประชุมทางวิชาการ หรือ กิจกรรมการพัฒนาเสริมสร้างประสบการณ์ กรณีขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่าย
- จดหมายตอบรับการเข้าร่วมประชุมฯ จากองค์กรที่จัดการสัมมนานั้น โดยระบุช่วงเวลาการสัมมนา
- จดหมายแสดงความเห็นชอบในการเข้าร่วมประชุมฯ จากอาจารย์ที่ปรึกษา
- สำเนาบทความหรืองานวิจัยที่ได้รับการตอบรับให้นำเสนอผลงานในการเข้าร่วมประชุมวิชาการ
- รายละเอียดกำหนดการการประชุมทางวิชาการ
- เอกสารระบุค่าลงทะเบียนประชุมทางวิชาการ
นักเรียนทุนที่มีความจำเป็นจะต้องเข้าร่วมกิจกรรมการพัฒนาเสริมสร้างประสบการณ์ในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ field trip และประสงค์ขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่าย จะต้องได้รับอนุมัติจาก สนร. ก่อนการเข้าร่วมกิจกรรม โดยสามารถดำเนินการตามกรณี ต่างๆ ดังนี้ ทั้งนี้ สำหรับนักเรียนทุนที่ได้รับทุนการศึกษาตั้งแต่งบประมาณประจำปี 2565 เป็นต้นไป
กรณีเป็นข้อบังคับของหลักสูตร
นักเรียนทุนสามารถขอเข้าร่วมกิจกรรมการพัฒนาเสริมสร้างประสบการณ์ได้ตามระยะเวลาที่หลักสูตรกำหนด (ไม่เกิน 6 เดือน) โดยจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจาก สนร.
หลักเกณฑ์การพิจารณาและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
- นักเรียนทุนจะต้องศึกษาด้วยทุนรัฐบาลในระหว่างเข้าร่วมกิจกรรม
เอกสารประกอบการพิจารณา
- แบบคำขอเข้าร่วมประชุมทางวิชาการ หรือ กิจกรรมการพัฒนาเสริมสร้างประสบการณ์ กรณีขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่าย
- เอกสาร/อีเมลรายละเอียดของกิจกรรมการพัฒนาเสริมสร้างประสบการณ์
- เอกสารสถานศึกษาหรือ Course module ระบุการเข้าร่วมกิจกรรมการพัฒนาเสริมสร้างประสบการณ์ เป็นข้อบังคับของหลักสูตร
- เอกสารแสดงรายละเอียดค่าใช้จ่าย
กรณีไม่เป็นข้อบังคับของหลักสูตร
นักเรียนทุนสามารถขอเข้าร่วมกิจกรรมการพัฒนาเสริมสร้างประสบการณ์ได้ตามระยะเวลาที่หลักสูตรกำหนด (ไม่เกิน 6 เดือน) โดยจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจาก สนร. ทั้งนี้ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากแหล่งทุนหรือหน่วยงานต้นสังกัดก่อน
หลักเกณฑ์การพิจารณาและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
- นักเรียนทุนจะต้องศึกษาด้วยทุนรัฐบาลในระหว่างเข้าร่วมกิจกรรม
- แหล่งทุนหรือหน่วยงานต้นสังกัดให้ความเห็นชอบให้นักเรียนทุนเข้าร่วมกิจกรรม
เอกสารประกอบการพิจารณา
- แบบคำขอเข้าร่วมประชุมทางวิชาการ หรือ กิจกรรมการพัฒนาเสริมสร้างประสบการณ์ กรณีขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่าย
- สำเนาจดหมาย/อีเมล จากแหล่งทุนหรือหน่วยงานต้นสังกัดที่ให้ความเห็นชอบให้เข้าร่วมกิจกรรม
- เอกสาร/อีเมลรายละเอียดของกิจกรรมการพัฒนาเสริมสร้างประสบการณ์
- เอกสารสถานศึกษาหรือ Course module ระบุการเข้าร่วมกิจกรรมการพัฒนาเสริมสร้างประสบการณ์ เป็นข้อบังคับของหลักสูตร
- เอกสารแสดงรายละเอียดค่าใช้จ่าย
กรณีที่นักเรียนทุนประสบปัญหาระหว่างศึกษาหรือไม่สามารถศึกษาระดับการศึกษาที่สูงขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง สามารถยื่นเรื่องขอพักการศึกษาชั่วคราวได้ โดย สนร. จะพิจารณาตามเหตุผลและความจำเป็น และหากนักเรียนทุนได้รับการอนุมัติให้พักการศึกษาชั่วคราว นักเรียนทุนจะไม่ได้รับค่าใช้จ่ายใดๆในฐานะนักเรียนทุนรัฐบาล/ทุนองค์กร ในระหว่างการพักการศึกษาชั่วคราว
หลักเกณฑฺ์การพิจารณาและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
- เมื่อนักเรียนทุนประสบปัญหาระหว่างศึกษา เช่น ปัญหาด้านการศึกษา ปัญหาด้านสุขภาพ หรือคาดว่าจะไม่สามารถศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง กรุณาหารือกับเจ้าหน้าที่ สนร. ในโอกาสแรกที่จะทำได้ เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหา หรือดำเนินการเรื่องต่างๆได้ถูกต้องตามขั้นตอน
- การพักการศึกษา กรณี ที่ไม่สามารถศึกษาต่อระดับที่สูงขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง หากครบกำหนดการพักการศึกษาชั่วคราวที่ได้รับอนุมัติแล้ว แต่ยังไม่มีสถานศึกษาตอบรับอย่างเป็นทางการแต่มีหลักฐานแสดงความคืบหน้าในการสมัครสถานศึกษา สนร. จะพิจารณาขยายเวลาพักการศึกษาชั่วคราวให้ท่านเพิ่มเติม แต่รวมกันทั้งหมดแล้วจะต้องไม่เกิน 1 ปีการศึกษาทั้งนี้ หากพักการศึกษาชั่วคราวเป็นเวลา 1 ปี/ 1 ปีการศึกษา (แล้วแต่กรณี) แล้ว สนร. จะพิจารณาเสนอให้ยุติการศึกษา
เอกสารประกอบการพิจารณา
- แบบคำขอพักการศึกษาชั่วคราว
- Student status letter (กรณี มีปัญหาด้านการศึกษาและด้านสุขภาพ)
- เอกสารอาจารย์ที่ปรึกษา หรือเอกสารสถานศึกษา (กรณี มีปัญหาด้านการศึกษาและด้านสุขภาพ)
- เอกสารทางการแพทย์ (กรณี มีปัญหาสุขภาพ)
- ผลการเรียนระดับปัจจุบัน (กรณี มีปัญหาด้านการศึกษาและรอศึกษาต่อระดับที่สูงขึ้น)
- เอกสารตอบรับ/ปฏิเสธ จากสถานศึกษา, Conditional offer (หากมี), Unconditional offer (หากมี), CAS statement (หากมี) (กรณี รอศึกษาต่อระดับที่สูงขึ้น)
- กรณี ศึกษาต่อระดับปริญญาเอก Research Proposal, Project approval form (หากมี)
นักเรียนทุนที่ประสงค์ขออยู่ฝึกอบรม/ฝึกงาน/ดูงานต่อหลังจากสำเร็จการศึกษา จะต้องยื่นเรื่องต่อ สนร. ก่อนสำเร็จการศึกษาไม่น้อยกว่า 60 วัน เมื่อได้รับอนุมัติแล้วจึงจะอยู่ฝึกอบรมหรือดูงานได้ และจะต้องฝึกอบรม/ฝึกงาน/ดูงาน ตามที่ได้รับอนุมัติเท่านั้น ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงระยะเวลา สถานที่ หรือแนวการฝึกอบรม/ฝึกงาน/ดูงาน ที่ต่างไปจากที่ได้รับอนุมัติไว้แล้วได้ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงก่อน
หลักเกณฑ์การพิจารณาและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
- นักเรียนทุนต้องสำเร็จ/เสร็จสิ้นการศึกษาภายในกรอบระยะเวลาศึกษาด้วยทุนรัฐบาลเท่านั้น
- นักเรียนทุนยื่นคำขอเป็นลายลักษณ์อักษรต่อ สนร. ก่อนสำเร็จ/เสร็จสิ้นการศึกษาอย่างน้อย 60 วัน
- นักเรียนทุนได้รับการตอบรับให้ฝึกอบรม/ฝึกงาน/ดูงานอย่างต่อเนื่องหลังจากสำเร็จการศึกษา โดยระบุสถานที่ ระยะเวลา และมีโครงการฝึกอบรม/ฝึกงาน/ดูงาน ที่ชัดเจน ประกอบการพิจารณาโดยสังเขป
- นักเรียนทุนต้องประสานแหล่งทุน/หน่วยงานต้นสังกัดโดยตรง และให้ส่วนราชการต้นสังกัด/แหล่งทุนมีหนังสืออนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรสนับสนุนให้นักเรียนทุนฝึกอบรม/ฝึกงาน/ดูงานหลังจากสำเร็จการศึกษา
- จะต้องเป็นการฝึกอบรม/ฝึกงาน/ดูงานในประเทศที่ศึกษา
- มีระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน
- นักเรียนทุนจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม/ฝึกงาน/ดูงานด้วยตนเอง
- นักเรียนจะต้องเดินทางกลับประเทศไทยทันทีหลังจากการเสร็จสิ้นการฝึกอบรม/ฝึกงาน/ดูงาน
ทั้งนี้ สำหรับนักเรียนทุนที่ได้รับทุนการศึกษาตั้งแต่งบประมาณประจำปี 2565 เป็นต้นไป สามารถขอฝึกอบรม/ฝึกงาน/ดูงานหลังจากสำเร็จการศึกษาได้สูงสุดไม่เกิน 6 เดือน และจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้วยทุนรัฐบาล ยกเว้น กรณีที่ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่าย/ค่าตอบแทนแล้วจะได้รับการอนุมัติด้วยทุนส่วนตัว
เอกสารประกอบการพิจารณา
- แบบคำขอดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ระบุแจ้งความประสงค์ขอดูงานหลังสำเร็จการศึกษา
- จดหมายตอบรับการฝึกอบรม/ฝึกงาน/ดูงาน โดยระบุเวลาชัดเจน
- รายละเอียดโครงการฝึกอบรม/ฝึกงาน/ดูงาน
- ผลการศึกษาฉบับล่าสุด
- เอกสารระบุระยะเวลาที่คาดว่าจะสำเร็จการศึกษา
- หนังสืออนุมัติจากส่วนราชการต้นสังกัด/แหล่งทุน สนับสนุนให้นักเรียนทุนฝึกอบรม/ฝึกงาน/ดูงานหลังจากสำเร็จการศึกษา
1. นักเรียนทุนยื่นแบบแสดงความจำนงเลือกหน่วยงาน ก่อนที่จะสำเร็จการศึกษาประมาณ 6 เดือน และนำส่งหนังสือแสดงความจำนงฯ ถึง สนร. หรือ สกพ. โดย ก.พ. ได้กำหนดแนวทางการพิจารณาหน่วยงานเพื่อชดใช้ทุนไว้ ดังนี้
1.1 จะพิจารณาให้ปฏิบัติราชการชดใช้ทุนในส่วนราชการที่เป็น กระทรวง/กรม เป็นอันดับแรก โดยนักเรียนทุนกลางจะต้อง ระบุกระทรวง/กรม ที่ประสงค์จะไปชดใช้ทุนอย่างน้อย 1 แห่ง
1.2 สำหรับหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่กระทรวง/กรม จะพิจารณาจากหลักการประเภทหน่วยงานของรัฐในกำกับของฝ่ายบริหารของสำนักงาน ก.พ.ร. และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังนี้
1.2.1 เป็นหน่วยงานของรัฐที่ใช้งบประมาณของรัฐ และไม่แสวงหากำไร/รายได้ รวมทั้งต้องมีภารกิจต่อเนื่อง
1.2.2 กรอบหน่วยงานของรัฐ ได้แก่ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ/หน่วยงานของศาล หรือหน่วยงานในกำกับของรัฐ/องค์การมหาชน หรือสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
1.3 กำหนดเกณฑ์ที่จะจัดสรรรนักเรียนทุนกลางไปปฏิบัติงานยังหน่วยงานในกำกับของรัฐ หรือองค์การมหาชน และสถาบันอุดมศึกษา ดังนี้
1.3.1 สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาที่ไม่สอดคล้องกับบทบาทภารกิจของกระทรวง/กรม เช่น สาขาวิชาวิศวกรรมอากาศยาน ฯลฯ หรือ
1.3.2 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก
1.3.3 หน่วยงานของรัฐมีเหตุผลความจำเป็นอย่างยิ่งและขอให้สำนักงาน ก.พ. พิจารณาเป็นการเฉพาะราย และสำนักงาน ก.พ. พิจารณาแล้วว่าจะเป็นประโยชน์และก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ต่อประเทศชาติ รวมทั้งหน่วยงานของรัฐและตัวนักเรียนทุน เช่น กรณีสถาบันการศึกษามีความต้องการนักเรียนทุนที่ศึกษากฎหมายจีน
2. แนบเอกสารเพื่อประกอบการพิจารณาของส่วนราชการไปพร้อมหนังสือแสดงความจำนงฯ ดังนี้
2.1 ภาพถ่ายหลักฐานการศึกษาปัจจุบัน เช่น ใบปริญญาบัตร Transcript of records หนังสือรับรองของสถาบันการศึกษาว่ากำลังศึกษาในระดับใด หรือ สำเร็จการศึกษาในระดับใด บทคัดย่อวิทยานิพนธ์ (หากมี)
2.2 ประวัติส่วนบุคคล (Resume) เช่น ประวัติการศึกษา ประสบการณ์ฝึกอบรม/ดูงาน ความสามารถพิเศษ
2.3 เอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณารับเข้าปฏิบัติงาน (หากมี)
***เอกสารการศึกษาที่ไม่เป็นภาษาอังกฤษขอให้นักเรียนแปลเป็นภาษาอังกฤษให้ด้วย***
3. สำนักงาน ก.พ. จะพิจารณาจัดสรรนักเรียนทุนกลางให้ปฏิบัติราชการชดใช้ทุนยังส่วนราชการต่าง ๆ ที่มีความประสงค์และตำแหน่งว่างพร้อมที่จะบรรจุนักเรียนทุน (ไม่รวมถึงรัฐวิสาหกิจ/หน่วยงานที่ไม่อยู่ในกรอบการจัดสรรของสำนักงาน ก.พ. ที่จะให้นักเรียนทุนกลางไปปฏิบัติงานชดใช้ทุน) โดยคำนึงถึงความจำเป็นเร่งด่วนจำนวนกำลังคนในสาขาวิชาเดียวกันหรือใกล้เคียงกันที่มีอยู่แล้วในส่วนราชการนั้น และการใช้ประโยชน์จากนักเรียนทุน รวมทั้งความสอดคล้องกับนโยบายและแผนการจัดสรรทุนของรัฐบาลที่ ก.พ. กำหนด และนโยบายและแผนงาน ที่กระทรวง กรม หรือหน่วยงานของรัฐกำหนด
นักเรียนทุนที่ประสงค์รับทุนการศึกษาจากหน่วยงานอื่นหรือจากสถานศึกษา ต้องดำเนินการขออนุมัติการรับทุนอื่นกับ สนร. ก่อนการตอบตกลงรับทุนอื่นๆ โดยกรอก แบบคำขอดำเนินการเรื่องต่างๆ พร้อมเอกสารประกอบการพิจารณาที่เกี่ยวข้อง เช่น เงื่อนไขการรับทุนอื่นๆ
หลักเกณฑ์การพิจารณาและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
- ทุนการศึกษาที่ได้รับจะต้องเป็นทุนให้เปล่า ไม่มีข้อผูกมัดในการชดใช้ทุนหลังจากนักเรียนทุนสำเร็จการศึกษา
- การรับทุนนั้นจะไม่ทำให้การศึกษาของนักเรียนทุนนั้นผิดไปจากแนวการศึกษาเดิม
- นักเรียนทุนจะต้องรับทุนอื่นๆ ควบคู่กับการรับทุนรัฐบาล ไม่สามารถงดรับทุนรัฐบาลได้เต็มจำนวน
- นักเรียนทุนสามารถของดรับค่าเล่าเรียนจากราชการได้ โดยจะต้องรับค่าใช้จ่ายประจำเดือนและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามระเบียบของราชการ เพื่อให้มีผลผูกพันตามสัญญา
- หากทุนการศึกษาเป็นการยกเว้นค่าเล่าเรียนหรือเป็นการมอบส่วนลดค่าเล่าเรียน โดยนักเรียนทุนได้รับเงินทุนดังกล่าว นักเรียนทุนจะต้องส่งเงินส่วนนั้นให้แก่ สนร.
เมื่อนักเรียนทุนใกล้เสร็จสิ้นการศึกษาหรือประสงค์ยุติการศึกษา ณ ต่างประเทศ นักเรียนทุนต้องวางแผนการเดินทางกลับประเทศไทยถาวรล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน เพื่อให้เป็นไปตามกฎที่ราชการกำหนดไว้ และดำเนินการแจ้งกำหนดการเดินทางกลับประเทศไทยถาวรกับ สนร. รวมทั้งขอเบิกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายการเงินของ สนร. ก่อนการเดินทางกลับประเทศไทย
การวางแผนเดินทางกลับประเทศไทยถาวร กรุณาตรวจสอบความถูกต้องของวันเดินทางให้เป็นไปตามกฎระเบียบ หากมีข้อสงสัย กรุณาสอบถามเจ้าหน้าที่ สนร. ก่อนการจองตั๋วเดินทางกลับประเทศไทย (ทั้งกรณี จองตั๋วเดินทางกับ สนร. และจองด้วยตนเอง) ทั้งนี้ นักเรียนทุนสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการจองตั๋วเดินทางและการขอเบิกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องได้ที่ หลักเกณฑ์การเบิกค่าใช้จ่ายสำหรับนักเรียนทุน (ข้อ 9 การจองตั๋วโดยสารเครื่องบิน กลับประเทศไทยถาวร)
การแจ้งการเดินทางกลับประเทศไทยถาวร กรณีเสร็จสิ้นการศึกษา
ตรวจสอบวันเดินทางกลับถึงประเทศไทยและรายงานตัวกลับเข้าปฏิบัติงานชดใช้ทุน ให้เป็นไปตามระเบียบที่กำหนดไว้ ดังนี้
1. ระดับปริญญาตรี: ต้องเดินทางกลับถึงประเทศไทย และ รายงานตัวปฏิบัติงาน ภายใน 20 วัน นับถัดจากวันที่ทราบผลการศึกษาอย่างไม่เป็นทางการ
เอกสารประกอบการพิจารณา
- แบบคำขอแจ้งการเดินทางกลับประเทศไทยถาวร
- ผลการศึกษาอย่างไม่เป็นทางการ (Provisional Result)
- กำหนดการประกาศผลการศึกษาอย่างไม่เป็นทางการ
- สำเนาตั๋วเดินทางกลับประเทศไทย (กรณี ไม่ได้จองตั๋วฯ กับ สนร.)
2. ระดับปริญญาโท: กรณีที่ ศึกษา ไม่เกิน 1 ปี ต้องเดินทาง กลับถึงประเทศไทย และ รายงานตัวปฏิบัติงาน ภายใน 10 วัน และ กรณีที่ศึกษาเกินกว่า 1 ปี ขึ้นไป ต้องเดินทางกลับถึงประเทศไทย และรายงานตัวปฏิบัติงาน ภายใน 20 วัน
การพิจารณาว่าศึกษาเกินกว่า 1 ปีหรือไม่ ให้เริ่มนับจาก วันที่เดินทางออกจากประเทศไทยจนถึงวันที่ส่งวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ หรือวันสอบเสร็จ หรือวันที่เสนอผลงานเสร็จ วันใดวันหนึ่งที่เป็นลำดับสุดท้าย (ไม่ใช่วันสิ้นสุดของหลักสูตรที่ระบุใน Offer Letter หรือกำหนดการส่งวิทยานิพนธ์ที่ระบุในเอกสารของหลักสูตร)
เอกสารประกอบการพิจารณา
- แบบคำขอแจ้งการเดินทางกลับประเทศไทยถาวร
- ผลการศึกษาล่าสุด (สามารถ save PDF/Print screen จากหน้า website สถานศึกษาได้)
- หลักฐานการส่งวิทยานิพนธ์ หรือ กำหนดการนำเสนองาน (viva/Presentation) หรือ กำหนด/ตารางสอบ (กรณีที่ไม่มีวิทยานิพนธ์)
- หน้าปกและบทคัดย่อวิทยานิพนธ์ (Front page and Abstract) (กรณี ที่มีการส่งวิทยานิพนธ์)
- สำเนาตั๋วเดินทางกลับประเทศไทย(กรณี ไม่ได้จองตั๋วฯ กับ สนร.)
3. ระดับปริญญาเอก: สำหรับนักเรียนทุนที่ส่งวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ หรือ สอบผ่าน viva แก้ไขไม่เกิน 6 เดือน และประสงค์กลับไปแก้ไขวิทยานิพนธ์ที่ประเทศไทย
ในกรณีที่นักเรียนทุนสอบผ่าน viva โดยที่ไม่ต้องมีการแก้ไขวิทยานิพนธ์ หรือหากต้องแก้ไข ให้ถือวันส่งวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ เป็นวันเสร็จสิ้นการศึกษา และนักเรียนทุนจะต้องเดินทาง กลับถึงประเทศไทยและรายงานตัวปฏิบัติงาน ภายใน 20 วัน นับถัดจากวันเสร็จสิ้นการศึกษา
เอกสารประกอบการพิจารณา
- แบบคำขอแจ้งการเดินทางกลับประเทศไทยถาวร
- หลักฐานการส่งวิทยานิพนธ์
- หนังสือแจ้งผลสอบViva
- หน้าปกและบทคัดย่อวิทยานิพนธ์ล่าสุด (Front page and Abstract)
- สำเนาตั๋วเดินทางกลับประเทศไทย(กรณี ไม่ได้จองตั๋วฯ กับ สนร.)
การแจ้งการเดินทางกลับประเทศไทยถาวร กรณียุติการศึกษา
กรุณาติดต่อฝ่ายการศึกษาเพื่อวางแผนวันเดินทางและดำเนินการขอยุติการศึกษาใน กรณี ดังต่อไปนี้
- ระดับปริญญาตรี: เดินทางกลับประเทศไทยถาวรก่อนทราบผลการศึกษาอย่างไม่เป็นทางการ (Provisional Result)
- ระดับปริญญาโท: เดินทางกลับประเทศไทยถาวรก่อนส่งวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ หรือวันสอบวันสุดท้าย หรือเสนอผลงานวันสุดท้าย
- ระดับปริญญาเอก: ยังมิได้ส่งวิทยานิพนธ์ฉบับร่าง หรือยังมิได้สอบป้องกันวิทยานิพนธ์ หรือมีผลการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ต้องแก้ไขเกินกว่า 6 เดือน
- ไม่ประสงค์ศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศ
เอกสารประกอบการพิจารณา
- แบบคำขอแจ้งการเดินทางกลับประเทศไทยถาวร
- เอกสารอาจารย์ที่ปรึกษา แจ้งกำหนดการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์โดยคร่าว /กำหนดการส่งฉบับร่าง/ กำหนดการแก้ไขวิทยานิพนธ์ เกิน 6 เดือน
- เอกสารยืนยันการส่งวิทยานิพนธ์ฉบับร่าง (หากมี)
- สำเนาหน้าปกและบทคัดย่อวิทยานิพนธ์
- เอกสารอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
การรายงานตัวกับสำนักงาน ก.พ.
นักเรียนทุนจะต้องรีบรายงานตัวต่อสำนักงาน ก.พ. ในโอกาสแรกที่เดินทางถึงประเทศไทย โดยส่งหลักฐานการสำเร็จการศึกษา ฝึกอบรม จากสถานศึกษา เช่น ประกาศนียบัตร หรือหนังสือรับรองว่าสำเร็จการศึกษา/การฝึกอบรม หรือหนังสือรับรองจากคณะกรรมการมหาวิทยาลัย/อาจารย์ที่ปรึกษา ว่าสอบผ่านวิทยานิพนธ์หรือส่งวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์แล้ว หรือสำเร็จการฝึกอบรมโดยสมบูรณ์แล้ว และตั๋วโดยสารเครื่องบิน ฯลฯ
การรายงานตัวกับต้นสังกัด
นักเรียนทุนที่มีสถานะเป็นข้าราชการหรือพนักงานของรัฐก่อนเดินทางที่ปฏิบัติงานในสังกัดเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะต้องรายงานตัวกับต้นสังกัดภายในวันถัดจากวันที่เดินทางกลับถึงประเทศไทย สำหรับผู้ที่มีสถานะเป็นข้าราชการหรือพนักงานของรัฐก่อนเดินทางที่ปฏิบัติงาน ณ ต่างจังหวัดจะต้องรายงานตัวกับต้นสังกัดไม่เกิน 2 วัน นับจากวันที่เดินทางกลับถึงประเทศไทย
การดำเนินการส่งตัวเข้าปฏิบัติราชการ
เมื่อสำนักงาน ก.พ. ได้รับแบบรายงานตัวและเอกสารครบถ้วนแล้ว จะดำเนินการส่งตัวนักเรียนเข้าปฏิบัติราชการชดใช้ทุน ซึ่งแยกการดำเนินการออกเป็น 2 กรณี คือ
- ในกรณีที่นักเรียนทุนที่สำเร็จการศึกษา มีสถานภาพเป็นข้าราชการหรือพนักงานของรัฐก่อนเดินทาง สามารถออกหนังสือส่งตัวนักเรียนทุนรัฐบาลไปปฏิบัติราชการชดใช้ทุนในหน่วยงานเจ้าสังกัดได้ทันที
- ในกรณีที่นักเรียนทุนที่ยังไม่เป็นบุคลากรภาครัฐ นักเรียนต้องส่งเอกสารสำเร็จการศึกษาให้สำนักงาน ก.พ. ก่อนจึงจะออกหนังสือส่งตัวนักเรียนทุนรัฐบาลไปปฏิบัติราชการชดใช้ทุนในหน่วยงานเจ้าสังกัด
กรณีนักเรียนทุนประสงค์จะลาออกจากการเป็นนักเรียนทุนของรัฐบาลสามารถกระทำโดย การบอกเลิกสัญญาเกี่ยวกับการรับทุนรัฐบาลเพื่อศึกษาวิชาในต่างประเทศที่นักเรียนทุนทำผูกพันไว้กับทางราชการได้ โดยมีหนังสือแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรถึง สนร. หรือ สกพ. หรือ แหล่งทุน ทั้งนี้ การลาออกดังกล่าวจะมีผลให้นักเรียนเป็นผู้ผิดสัญญา ซึ่งนักเรียนและผู้ค้ำประกัน จะต้องชดใช้เงินทุนรัฐบาลและเบี้ยปรับให้แก่ทางราชการตามที่สัญญากำหนดต่อไป กรณี นักเรียนทุนเป็นข้าราชการ/พนักงานของรัฐ ต้องติดต่อหน่วยงานต้นสังกัดเพื่อดำเนินการตามระเบียบราชการต่อไป หากนักเรียนทุนมีข้อสงสัยประการใด โปรดติดต่อ สนร. หรือ สกพ. หรือ หน่วยงานต้นสังกัดเจ้าของทุน ก่อนที่จะตัดสินใจลาออก
Updated November 29, 2024