ข้อควรปฏิบัตินักเรียนทุนรัฐบาล

          กรณีติดต่อ/ยื่นแบบคำขอนักเรียนทุนรัฐบาลทางอีเมล (scholars@oeauk.net) โปรดระบุชื่อ-สกุล (ภาษไทยหรือภาษาอังกฤษ) รหัสนักเรียนทุนรัฐบาลของ สนร. (หากไม่ทราบโปรดระบุแหล่งทุน),ชื่อมหาวิทยาลัย ใน Subject ของอีเมลทุกครั้ง เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการดำเนินการ ตัวอย่าง: Somchai Jaidee/ก.พ. CS0000/U of Manchester โดยจะต้องดำเนินการจัดส่งแบบคำขอต่าง ๆ ล่วงหน้าอย่างน้อย 60 วัน แต่ไม่เกิน 90 วัน

     นักเรียนทุนรัฐบาล (นทร.) ที่เดินทางมาศึกษา ณ สหราชอาณาจักร จะต้องดำเนินการรายงานตัวกับ สนร.ในโอกาสแรกที่จะทำได้ โดยสามารถรายงานตัวด้วยตนเองที่ สนร. หรือจัดส่งเอกสารรายงานตัวทางไปรษณีย์ที่ Scholarship Students Section, Office Of Educational Affairs, Royal Thai Embassy, 28 Prince’s Gate, London SW7 1PT  เอกสารประกอบการรายงานตัวนักเรียนทุนใหม่ ดังนี้

     1. แบบรายงานตัวมาศึกษา ณ สหราอาณาจักร ที่นำติดตัวมาจากสำนักงาน ก.พ. กรุงเทพ ฯ (ฉบับจริง)

     2. แบบรายงานตัวสำหรับนักเรียนทุนรัฐบาลใหม่

     3. รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว หรือขนาด 2  นิ้ว จำนวน 1 รูป (โปรดเขียนชื่อ-นามสกุล เป็นภาษาอังกฤษ และวันเดือนปีเกิดหลังรูป)

     4. สำเนาหนังสือจากต้นสังกัดที่อนุมัติระยะเวลาลาศึกษาต่อ (กรณีข้าราชการ/เจ้าหน้าที่ภาครัฐ)

     5. สำเนาหนังสือเดินทางหน้าแรกที่มีรายละเอียดส่วนตัว

     6. สำเนาหนังสือเดินทางที่ประทับตรา “วันที่เดินทางมาถึง” สหราชอาณาจักร

     7. สำเนา BRP

     8. สำเนาจดหมายตอบรับเข้าศึกษาของมหาวิทยาลัย ที่ระบุค่าเล่าเรียนอย่างชัดเจน (Office Letter)

     9. CAS Statement

     10. สำเนาจดหมายตอบรับเข้าศึกษาหลักสูตรภาษาอังกฤษ (Pre-sessional course) ในกรณีที่จะต้องเข้าศึกษาภาษาอังกฤษก่อนเข้าศึกษาระดับปริญญา ไม่ว่าจะศึกษาด้วยทุนรัฐบาลหรือทุนส่วนตัว

ข้อมูลเพิ่มเติม

     – เมื่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายนักเรียนทุนรัฐบาลที่ดูแลแต่ละสถานศึกษาได้รับเอกสารรายงานตัวนักเรียนทุนใหม่และเอกสารประกอบครบถ้วน ตามที่แจ้งข้างบนนี้ และรับลงทะเบียนนักเรียนทุนใหม่เรียบร้อยแล้ว จะแจ้งรหัสประจำตัวของ นทร. เพื่อให้ นทร. ใช้อ้างอิงในการติด สนร. 

     – หาก นทร.หรือต้นสังกัด ได้จ่ายเงินมัดจำค่าเล่าเรียน (Deposit) หรือค่าเล่าเรียนให้กับสถานศึกษาโดยตรงแล้ว โปรดแจ้งให้ สนร. ทราบด้วย

     – ในกรณีที่สถานศึกษาต้องการหนังสือรับรองสถานภาพนักเรียนทุน สนร. จะดำเนินการออกหนังสือรับรองทางการเงิน (Financial Guarantee Letter) เพื่อให้ นทร. นำไปยื่นกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยจะส่งใบเรียนเก็บเงินค่าเล่าเรียนมาที่ สนร. โดยตรง แต่ทั้งนี้ สนร. จะต้องได้รับเอกสารรายงานตัวนักเรียนทุนใหม่ครบถ้วน 

     – กรณีที่ต้องศึกษาหลักสูตรภาษาอังกฤษก่อนเริ่มศึกษาหลักสูตรหลัก เมื่อสอบผ่านหลักสูตรดังกล่าวแล้ว โปรดส่งผลการเรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษ พร้อมกับดำเนินการขอ Financial guarantee Letter สำหรับหลักสูตรหลัก โดยการกรอกแบบคำขอรับรองสถานภาพนักเรียนทุนรัฐบาล พร้อมแนบเอกสาร Unconditional Offer ที่ระบุค่าเล่าเรียน เพื่อที่ สนร. จะดำเนินการออกหนังสือรับรองทางการเงิน (Financial Guarantee Letter) เพื่อนำไปยื่นให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยจะส่งใบเรียกเก็บเงินค่าเล่าเรียนมาที่ สนร. โดยตรง

(กรณีที่ต้องขอวีซ่าใหม่ ให้เลือกขอเอกสารรับรองให้การขอวีซ่าในแบบคำร้องเดียวกัน พร้อมแนบเอกสาร CAS Statement และ Unconditional offer)

     – ในกรณีที่สถานศึกษาต้องการหนังสือรับสถานภาพนักเรียนทุนทุกปี (หลักสูตรการศึกษาที่เกินกว่า 1 ปี) เพื่อประกอบการลงทะเบียนเรียนในแต่ละปีนั้น  นทร. สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ที่ดูแลสถานศึกษาที่ นทร. ศึกษาอยู่ โดยกรอกแบบคำขอรับรองสถานภาพนักเรียนทุนรัฐบาล พร้อมจัดส่งทางอีเมล

แบบรายงานตัวสำหรับนักเรียนทุนรัฐบาลใหม่

แบบคำขอเอกสารรับรองสถานภาพนักเรียนทุนรัฐบาล

     ตามระเบียบนักเรียนทุนรัฐบาล นทร. ทุกท่านที่อยู่ในความดูแลของ สนร. ที่กำลังศึกษาด้วยทุนรัฐบาล ทุนส่วนตัว และระหว่างพักการศึกษาชั่วคราว จะต้องรายงานความก้าวหน้าทางการศึกษาตามระบบของ สนร. อังกฤษ โดย นทร. ทุกท่านจะต้องดำเนินการรายงานความก้าวหน้าทางการศึกษา ทั้ง 2 รูปแบบ ตามระดับหลักสูตรที่ศึกษารายละเอียด ดังนี้

     – ระดับปริญญาตรี ปริญญาตรีควบโท และปริญญาโท

        1. นทร. จะต้องจัดส่งแบบรายงานความก้าวหน้าในการศึกษา (เดือนมีนาคมและเดือนกันยายน*) ทางอีเมล scholars@oeauk.net  พร้อมแนบเอกสารประกอบ ดังนี้

    • แบบรายงานความก้าวหน้าในการศึกษา
    • หนังสือรับรองการลงทะเบียน Student Status Letter
    • ผลการศึกษาฉบับล่าสุด         

         2. นทร. จะต้องกรอก Google Form Link (เดือนมิถุนายน) โดย สนร.จะจัดส่ง link ให้ นทร. ทางอีเมล

        ** กรณี นทร.ระดับปริญญาโท การแจ้งเดินทางกลับประเทศไทยถาวร ถือเป็นรายงานความก้าวหน้าทางการศึกษาของเดือนกันยายน **

     – A-Level Foundation Programme และปริญญาเอก

        1. นทร. จะต้องจัดส่งแบบรายงานความก้าวหน้าในการศึกษา ( เดือนมิถุนายนและเดือนธันวาคม ) ทางอีเมล scholars@oeauk.net  พร้อมแนบเอกสารประกอบ ดังนี้

    • แบบรายงานความก้าวหน้าในการศึกษา
    • หนังสือรับรองการลงทะเบียน Student Status Letter
    • หนังสือรับรองจากอาจารย์ที่ปรึกษา (แบบแสดงความคิดเห็นของอาจารย์ที่ปรึกษา) เฉพาะกรณีศึกษาระดับปริญญาเอก

         2. นทร. จะต้องกรอก Google Form Link (เดือนมีนาคม) โดย สนร.จะจัดส่ง link ให้ นทร. ทางอีเมล

แบบรายงานความก้าวหน้าในการศึกษา

แบบแสดงความคิดเห็นของอาจารย์ที่ปรึกษา

     นทร. จะต้องลงทะเบียนศึกษาแบบเต็มเวลา Full Time โดยเลือกวิชาศึกษาให้ตรงตามแนวการศึกษา และโครงการปฏิบัติงานหลังสำเร็จการศึกษาตามความต้องการของต้นสังกัด ถ้ามีความจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงแนวการศึกษาหรือย้ายสถานศึกษา ต้องยื่นคำขอพร้อมชี้แจงเหตุผลความจำเป็นขออนุมัติกับ สนร. เพื่อนำเสนอผู้มีอำนาจอนุมัติตามระเบียบ เมื่อได้รับการอนุมัติแล้ว จึงจะเปลี่ยนแปลงแนวการศึกษาหรือย้ายสถานศึกษาได้ ทั้งนี้ นทร. สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ที่ดูแลสถานศึกษาที่ นทร. ศึกษาอยู่ เพื่อขอคำปรึกษาและการดำเนินการเป็นรายกรณี

     1. หลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุมัติให้ย้ายสถานศึกษา ดังนี้

     1.1 เป็นผู้ที่สำนักงาน ก.พ. หรือต้นสังกัดมิได้กำหนดสถานศึกษาสำหรับผู้นั้นไว้เป็นกรณีพิเศษให้เข้าศึกษา ณ สถานศึกษาแห่งใดแห่งหนึ่งโดยเฉพาะ

     1.2 การย้ายสถานศึกษาจะไม่ทำให้ต้องเปลี่ยนแนวการศึกษาให้ผิดไปจากแนวที่ สำนักงาน ก.พ. ได้อนุมัติหรือกำหนดไว้

     1.3 สถานศึกษาที่ย้ายไปใหม่ ต้องมีมาตรฐานการศึกษาในระดับที่จะได้รับการพิจารณาคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าเดิม

     1.4 การย้ายสถานศึกษาต้องไม่ทำให้เสียเวลาศึกษาเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมเกินสมควร

     1.5 การย้ายสถานศึกษาต้องไม่ทำให้งบประมาณค่าใช้จ่ายเกินอัตราที่ สำนักงาน ก.พ. กำหนดไว้

     2. หลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุมัติให้ย้ายประเทศศึกษา ดังนี้

     2.1 มีผลการเรียนดี

     2.2 มหาวิทยาลัยที่จะศึกษาจะต้องมีชื่อเสียงในสาขาวิชาที่ศึกษา

     2.3 หน่วยงานเจ้าของทุนและต้นสังกัดเห็นชอบ

หมายเหตุ ทุนด้านวิทยาสาสตร์ ฯ ไม่สนับสนุนให้ นทร. ย้ายประเทศศึกษาระหว่างที่กำลังศึกษา ณ ต่างประเทศ

     นทร. ทุกคนมีหน้าที่ตรวจสอบระยะเวลาการรับทุนของตนเอง (โดยให้ตรวจสอบว่าระยะเวลารับทุนครั้งแรกมีกำหนดกี่ปี) หากใกล้ครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว นทร. จะต้องยื่นคำร้องขอขยายเวลาศึกษา พร้อมชี้แจงเหตุความจำในการขยายเวลาศึกษา โดยต้องดำเนินการขอขยายเวลาศึกษาล่วงหน้าอย่างน้อย 60 วัน แต่ไม่เกิน 90 วันก่อนที่ระยะเวลาการศึกษาจะครบกำหนด โดยสามารถจัดส่งแบบคำขอขยายเวลาศึกษา/ลาศึกษาต่อ ทางอีเมล พร้อมกับเอกสารประกอบ ดังนี้

     1. แบบคำร้องขอขยายเวลาศึกษา/ ลาศึกษาต่อ ณ สหราชอาณาจักร

     2. Student Status Letter (สำหรับทุกระดับการศึกษา) สามารถขอได้จาก Student Office/ Graduate Office/ Admission Office/ Research Office ซึ่งเนื้อความในจดหมายควรระบุระยะเวลาที่ นทร. เริ่มลงทะเบียนและระยะเวลาที่คาดว่าจะสำเร็จการศึกษา

     3. กำหนดการแจ้งผลการศึกษาอย่างไม่เป็นทางการ (กรณีศึกษาระดับปริญญาตรี)

     4. ผลการศึกษาฉบับล่าสุด หรือ จดหมายจากอาจารย์ที่ปรึกษา (กรณีนักศึกษาระดับปริญญาโท)

     5. กำหนดการส่งวิทยานิพนธ์ (กรณีนักศึกษาระดับปริญญาโท)

     6. หนังสือรับรองอาจารย์ที่ปรึกษา ระบุความก้าวหน้าทางการศึกษาและกำหนดเวลาที่จะสำเร็จการศึกษา (กรณีศึกษาระดับปริญญาโท by research และปริญญาเอก)

     กรณีต้องรอส่งวิทยานิพนธ์/ส่งวิทยานิพนธ์แล้ว และจำเป็นจะต้องรอผลการตรวจวิทยานิพนธ์ หรือสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ (Viva) ควรจะมีระยะเวลาที่ระบุชัดเจน และระยะเวลาที่คาดการว่าจะต้องสอบป้องกันฯ ที่ชัดเจน ส่วนกรณีที่สอบป้องกันวิทยานิพนธ์แล้ว แต่ยังไม่ผ่านหรือจำเป็นที่จะต้องแก้ไขนั้น ควรระบุระยะเวลาที่จะต้องส่งวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ไว้ด้วย

     สำนักงาน ก.พ. ได้กำหนดระยะเวลาการศึกษาด้วยทุนรัฐบาล ณ สหราชอาณาจักร ดังนี้

ปริญญาตรี

3 ปี (ไม่รวมการเรียนภาษาอังกฤษ และ A level ของนักเรียนทุนระดับมัธยมฯ)

ปริญญาตรี-โท

4 ปี

ปริญญาโท

1 ปี

ปริญญาโท-เอก

4 ปี

ปริญญาเอก

3 ปี

หมายเหตุ กำหนดเวลาดังกล่าว อาจจะยกเว้นสำหรับหลักสูตรที่ใช้เวลาเกินกว่าที่สำนักงาน ก.พ. กำหนด

แบบคำขอขยายเวลาศึกษา/ลาศึกษาต่อ

แบบแสดงความคิดเห็นของอาจารย์ที่ปรึกษา

     นทร. ที่ได้รับอนุมัติให้ศึกษาระดับปริญญาตรี-โท/ ตรี-โท-เอก หรือ โท-เอก นั้น เมื่อสำเร็จการศึกษาในแต่ละระดับการศึกษา จะต้องดำเนินการขออนุมัติศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นทุกครั้ง (สำหรับกรณี นทร. ที่กำลังศึกษาระดับ MPhil เมื่อเปลี่ยนระดับการศึกษาเป็น PhD จะต้องแจ้งให้ สนร. ทราบ) โดยสามารถจัดส่งแบบคำขออนุมัติเปลี่ยนระดับการศึกษาทางอีเมล พร้อมเอกสารประกอบ ดังนี้ 

     1. แบบคำขออนุมัติเปลี่ยนระดับการศึกษา

     2. Consent Form

     3. หนังสือตอบรับจากสถานศึกษา (Unconditional Offer Letter, CAS Statement)

     4. ผลการเรียนยืนยันสำเร็จการศึกษา

     5. สำหรับ นร ทุน พสวท./สสวท. นร ทุนจะต้องมีผลการเรียนแต่ละระดับตามที่เจ้าของทุนกำหนดเพื่อศึกษาต่อระดับที่สูงขึ้น ดังนี้

        – ระดับปริญญาตรี ต้องมีผลการเรียน อย่างต่ำ 57.20% ในการศึกษาต่อระดับปริญญาโท

        – ระดับปริญญาโท ต้องมีผลการเรียน อย่างต่ำ 66.00% ในการศึกษาต่อระดับปริญญาเอก

     เมื่อได้รับอนุมัติให้ศึกษาในระดับที่สูงขึ้นแล้ว นทร. สามารถทำเรื่องเบิกค่าระวางขนส่งของในการย้ายสถานศึกษา และแจ้งปรับฐานเงินเดือนกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินได้ที่ finance@oeauk.net

แบบคำขออนุมัติเปลี่ยนระดับการศึกษา

Consent Form

แบบคำขอเบิกค่าระวางขนของระหว่างเมืองที่ศึกษา

แบบคำขอปรับปรุงค่าใช้จ่ายประจำเดือน

     นทร. ที่มีความประสงค์ขอหนังสือรับรองสถานภาพการเป็นนักเรียนทุนรัฐบาล กรุณากรอกแบบคำขอเอกสารรับรองสถานภาพนักเรียนทุนรัฐบาล และแจ้งความประสงค์ในการของหนังสือรับรองดังกล่าวตามความประสงค์ที่ได้ระบุไว้ในแบบคำขอ เพื่อ สนร. จะดำเนินการออกหนังสือรับรองตามที่ร้องขอ

จุดประสงค์การขอหนังสือรับรองสถานภาพการเป็นนักเรียน

เอกสารประกอบ

1) ใช้ในการลงทะเบียนศึกษา/มหาวิทยาลัยเรียกเก็บค่าเทอม (บางสถานศึกษาต้องขอทุกปี กรณีที่หลักสูตรการศึกษาเกินกว่า 1 ปี)

– หนังสือตอบรับจากมหาวิทยาลัยระบุ ชื่อหลักสูตร/ วัน

เดือนปีที่เริ่มศึกษา

– เอกสารระบุค่าเล่าเรียน

2) สำหรับสมัครเข้าศึกษาต่อ (Admission)– รายละเอียดหลักสูตรที่สมัครเข้าศึกษาต่อ (ถ้ามี)
3) ต่ออายุวีซ่านักเรียนในประเทศอังกฤษ

– CAS statement

– หนังสือตอบรับแบบไม่มีเงื่อนไข (Unconditional offer)

4) ทำหนังสือเดินทางข้าราชการเล่มใหม่

– สำเนา Passport เดิม

– Student status letter หรือเอกสารที่ระบุวันที่คาดว่าจะเสร็จสิ้นการศึกษา

5) ยื่นประกอบการเช่าที่อยู่อาศัย สนร. ไม่สามารถเป็น Guarantor ในการเช่าที่อยู่อาศัยได้ แต่สามารถออกหนังสือรับรองสถานภาพนักเรียนทุนเพื่อประกอบการเช่าที่อาศัยให้ได้– ระบุชื่อบริษัท หรือ Agency

แบบคำขอเอกสารรับรองสถานภาพนักเรียนทุนรัฐบาล

     นทร. สามารถเดินทางออกนอกประเทศศึกษาระหว่างศึกษาได้ โดย นทร. จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในการเดินทางด้วยตนเอง เช่น ค่าเดินทาง ค่าวีซ่า ค่าตรวจโรค ฯลฯ และ นทร.ที่ประสงค์จะเดินทางออกนอกประเทศศึกษาทุกกรณี จะต้องดำเนินการการขออนุญาต สนร. ทุกครั้ง และจะต้องได้รับหนังสืออนุมัติให้เดินออกนอกประเทศศึกษาจาก สนร. ก่อนเดินทาง โดยสามารถจัดส่งแบบคำของเดินทางออกนอกประเทศศึกษาทางอีเมล เมื่อได้รับหนังสืออนุมัติให้เดินทางแล้วจึงจะสามารถดำเนินการจองตั๋วการเดินทางและพร้อมจัดส่งสำเนาการจองตั๋วเดินทางให้ สนร. นทร. จึงจะสามารถเดินทางออกนอกประเทศศึกษาได้ 

     หลักเกณฑ์การเดินทางออกนอกประเทศศึกษา ดังนี้

     1. การเดินทางออกนอกประเทศศึกษา เนื่องจากกลับประเทศไทยชั่วคราวหรือทัศนศึกษา ในระหว่างช่วงการเปิดภาคเรียน นทร.จะต้องไม่ขาดเรียน หรือได้รับการอนุมัติจากสถานศึกษา/อาจารย์ที่ปรึกษา ไม่ส่งผลกระทบต่อผลการเรียน และทำให้ระยะเวลาศึกษาและงบประมาณค่าใช้จ่ายของนักเรียนเพิ่มขึ้น

     2. กรณี เดินทางกลับประเทศไทยชั่วคราว นทร. จะได้รับเงินประจำเดือนอัตราประเทศที่ศึกษาสูงสุด 90 วันต่อปีปฏิทิน (1 ม.ค.–31 ธ.ค.) โดยให้นับระยะเวลาการกลับทุกครั้งรวมกัน หากพำนักอยู่ที่ประเทศไทยเกิน 90 วัน จะไม่ได้รับค่าใช้จ่ายใดๆ ในฐานะนักเรียนทุนรัฐบาล ทั้งนี้ หากการเดินทางกลับประเทศไทยชั่วคราวเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการเก็บข้อมูลวิทยานิพนธ์ ระยะเวลาการกลับประเทศไทยชั่วคราวนั้น จะถูกนับรวมเป็นเวลากการเก็บข้อมูลวิทยานิพนธ์ (รายละเอียดเพิ่มเติม สามารถดูได้ในหัวข้อการเก็บข้อมูลวิทยานิพนธ์นอกประเทศที่ศึกษา)

     3. การเดินทางไปประชุมวิชาการ (ไม่ขอเงินสนับสนุน) จะต้องแสดงเอกสารตอบรับการเข้าร่วมประชุมวิชาการและแผนการเดินทาง เอกสารหรืออีเมลสนับสนุนจากอาจารย์ที่ปรึกษา

     เมื่อ นทร. เดินทางกลับถึงประเทศศึกษาแล้วจะต้องรายงานตัวกับ สนร. โดยจัดส่งเอกสารประกอบการรายงานตัวกลับประเทศศึกษาทางอีเมล เช่น สำเนาหนังสือเดินทางที่ประทับตราวันที่เดินทางเข้า-ออกประเทศศึกษา หรือ Boarding Pass/ตั๋วรถไฟ

แบบคำขอเดินทางออกนอกประเทศศึกษา

     นทร. ที่มีความจำเป็นที่จะต้องเก็บข้อมูลวิทยานิพนธ์นอกประเทศศึกษา นทร. จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง เช่น ค่าตั๋ว ค่าวีซ่า และจะต้องขออนุมัติการเดินทางไปเก็บข้อมูลนอกประเทศศึกษากับ สนร. โดย สนร. จะการพิจารณาการเก็บข้อมูลนอกประเทศศึกษาได้สูงสุดไม่เกิน 1 ปี (รวมระยะเวลาตลอดหลักสูตรการศึกษา) โดย นทร. จะได้รับอัตราเงินเดือนสหราชอาณาจักรสูงสุดไม่เกิน 180 วัน (ครั้งเดียว 180 วัน หรือ หลายครั้งนับรวมกันไม่เกิน 180 วัน) หากระยะเวลาเก็บข้อมูลเกินกว่า 180 วัน นทร. จะได้รับอัตราเงินเดือนของประเทศที่เดินทางไปเก็บข้อมูล แต่หากการเก็บข้อมูลรวมเกินกว่า 1 ปี ระยะเวลาที่เกิน 1 ปี สนร. จะส่งเรื่องให้ผู้มีอำนาจพิจารณาต่อไป

     ทั้งนี้ หากการเดินทางไปเก็บข้อมูล ณ ประเทศไทย เป็นการเดินทางพร้อมกับการเดินทางกลับประเทศไทยชั่วคราว การนับเวลาทั้งสองช่วงรวมกันเป็นการเก็บข้อมูลวิทยานิพนธ์นอกประเทศศึกษา โดยสามารถจัดส่งแบบคำขออนุญาตไปเก็บข้อมูลวิทยานอกประเทศศึกษาทางอีเมล และพร้อมเอกสารประกอบ ดังนี้

     1. แบบคำขออนุญาติไปเก็บข้อมูลวิทยานิพนธ์นอกประเทศศึกษา

     2. กำหนดการและแผนการเก็บข้อมูลวิทยานิพนธ์โดยสังเขป ซึ่งระบุสถานที่ ระยะเวลาที่ใช้ในการเก็บข้อมูล

     3. จดหมายจากอาจารย์ที่ปรึกษา รับรองการให้กลับไปเก็บข้อมูลนอกประเทศศึกษา

     4. หนังสือรับรองสถานภาพนักศึกษา

     เมื่อ นทร. เดินทางกลับถึงประเทศศึกษาแล้ว จะต้องรายตัวหลังการเก็บข้อมูลวิทยานิพพนธ์นอกประเทศศึกษากับ สนร. ทางอีเมล พร้อมเอกสารประกอบ ดังนี้

     1. แบบรายงานตัวหลังการเก็บข้อมุลวิทยานิพนธ์นอกประเทศศึกษา

     2. สำเนาหนังสือเดินทางที่ประทับตราวันที่เดินทางเข้า-ออกประเทศที่ศึกษา หรือ Boarding Pass

แบบคำขอไปเก็บข้อมูลวิทยานิพนธ์นอกประเทศศึกษา

แบบรายงานตัวหลังการเก็บข้อมูลวิทยานิพนธ์นอกประเทศศึกษา

     นทร. ที่มีความประสงค์จะไปร่วมประชุม/สัมมนาวิชาการนอกประเทศศึกษา จะต้องดำเนินการขออนุญาตไปประชุมวิชาการ ฯ และจะต้องได้รับอนุมัติจาก สนร. ก่อนที่จะเดินทางไปประชุมวิชาการ ฯ  โดยสามารถจัดส่งแบบคำขออนุมัติไปเข้าร่วมประชุม ฯ ทางอีเมล ซึ่งการขอไปร่วมประชุม ฯ มี 3 กรณี ดังนี้

     1. ไม่ประสงค์ขอเงินสนับสนุนค่าลงทะเบียน โดยกรอกแบบคำขอเดินทางออกนอกประเทศศึกษา

     2. ข้อบังคับของหลักสูตร และประสงค์ขอเงินสนับสนุน (ได้เพียง 1 ครั้งต่อ 1 หลักสูตรการศึกษา) และ นทร. ยังคงศึกษาอยู่ในระยะเวลากรอบการรับทุนรัฐบาล สนร. จะพิจารณาสนับสนุนค่าใช้จ่าย 3 รายการ ได้แก่ ค่าตั๋วเครื่องบินและค่าที่พัก ในอัตราประหยัด และค่าลงทะเบียนตามที่จ่ายจริง โดย นทร.จะต้องได้รับการอนุมัติเรื่องเงินทุนสนับสนุนค่าใช้จ่ายก่อนเดินทางไปราวมการประชุมวิชาการ ฯ หากดำเนินการหลังจากการประชุมวิชาการเสร็จสิ้นแล้ว จะไม่สามารถเบิกเงินค่าใช้จ่ายใดๆ ได้ เอกสารประกอบการพิจารณา ดังนี้

        – แบบคำขออนุมัติไปเข้าร่วมประชุมวิชการ ฯ 

        – จดหมายตอบรับการเข้าร่วมประชุมและสัมมนา จากองค์กรที่จัดการสัมมนานั้น โดยระบุช่วงเวลาการสัมมนาที่ชัดเจน

        – จดหมายแสดงความเห็นชอบในการไปร่วมประชุมและสัมมนานั้น ๆ จากอาจารย์ที่ปรึกษา

        – เอกสารชี้แจงหลักสูตรการศึกษาระบุว่าการไปประชุมวิชาการ ฯครั้งนี้เป็นข้อบังคับของหลักสูตร

        – รายละเอียดกำหนดการการประชุมวิชาการ ฯ

        – เอกสารเปรียบเทียบราคาตั๋วเครื่องบิน 3 สายการบิน (อัตราประหยัด)

        – เอกสารเปรียบเทียบราคาที่พัก 3 แห่ง (ไม่เกิน 3 ดาว) (อัตราประหยัด)

        – เอกสารระบุค่าลงทะเบียน

     3. มิใช่ข้อบังคับของหลักสูตร และประสงค์ขอเงินสนับสนุน สนร. จะพิจารณาสนับสนุนเฉพาะค่าใช้จ่ายในลงทะเบียนการประชุมวิชาการเท่านั้น (ได้ 1 ครั้งต่อ 1 หลักสูตรการศึกษา) ซึ่งการขอเงินสนับสนุนค่าลงทะเบียนการประชุมวิชาการ ฯ นี้ จะได้รับการพิจารณา ต่อเมื่อ

     1. สนร. ไม่ได้ชำระค่า Bench fee ให้แก่ทางสถานศึกษา

     2. นทร. มีการเสนอผลงานในรูปแบบ Oral Presentation หรือ Poster

     3. นทร. ยังคงศึกษาอยู่ในระยะเวลากรอบการรับทุนรัฐบาล

     โดย นทร.จะต้องได้รับการอนุมัติเรื่องเงินทุนสนับสนุนค่าใช้จ่ายก่อนเดินทางไปราวมการประชุมวิชาการ ฯ หากดำเนินการหลังจากการประชุมวิชาการเสร็จสิ้นแล้ว จะไม่สามารถเบิกเงินค่าใช้จ่ายใดๆ ได้ เอกสารประกอบการพิจารณา ดังนี้

        – แบบคำขออนุมัติไปเข้าร่วมประชุมวิชาการ ฯ 

        – จดหมายตอบรับการเข้าร่วมประชุมและสัมมนา จากองค์กรที่จัดการสัมมนานั้น โดยระบุช่วงเวลาการสัมมนาที่ชัดเจน

        – จดหมายแสดงความเห็นชอบในการไปร่วมประชุมและสัมมนานั้น ๆ จากอาจารย์ที่ปรึกษา

        – รายละเอียดกำหนดการการประชุมวิชาการ ฯ 

     การประชุมวิชาการ ฯ ทุกกรณี เมื่อเสร็จสิ้นการประชุมวิชาการแล้วกรุณาจัดส่งแบบรายงานการเข้าประชุมทางวิชาการ ฯ ให้ สนร. ทางอีเมล ทุกเว้นกรณีที่ 2 และ 3 จะต้องกรอกแบบคำขอเบิกค่าใช้จ่ายเข้าร่วมประชุมวิชาการ ฯ เพิ่มเติม พร้อมเอกสารแนบที่ได้ระบุไว้ในแบบคำขอเพื่อประกอบการเบิกค่าใช้จ่าย

แบบคำขอเดินทางออกนอกประเทศศึกษา

แบบคำขออนุมัติไปเข้าร่วมประชุมวิชาการ ฯ

แบบรายงานการเข้าร่วมประชุมวิชาการ ฯ

แบบคำขอเบิกค่าใช้จ่ายเข้าร่วมประชุมวิชาการ ฯ

     นทร. ที่ประสงค์ขออยู่ฝึกอบรมหรือดูงานต่อหลังจากสำเร็จการศึกษา จะต้องยื่นเรื่องต่อ สนร. ก่อนสำเร็จการศึกษาไม่น้อยกว่า 60 วัน เมื่อได้รับอนุมัติแล้วจึงจะอยู่ฝึกอบรมหรือดูงานได้ นทร. ที่ได้รับอนุมัติให้อยู่ฝึกอบรมหรือดูงานนั้น จะเปลี่ยนแปลงกำหนดระยะเวลาสถานที่ หรือแนวการดูงานให้ผิดไปจากที่ได้รับอนุมัติไว้ไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติก่อน

     หลักเกณฑ์การพิจารณาการขอฝึกอบรมหรือดูงาน มีดังนี้

     1. นทร. มีคำขอเป็นลายลักษณ์อักษร และต้องยื่นเรื่องต่อ สนร. ก่อนสำเร็จการศึกษาอย่างน้อย 60 วัน

     2. มีสถานที่ตอบรับให้ฝึกอบรมหรือดูงานโดยระบุเวลาชัดเจน และมีโครงการดูงาน-ฝึกงาน จากสถานที่ดูงาน-ฝึกงาน ประกอบการพิจารณาโดยสังเขป รวมทั้งความเห็นต้นสังกัดสนับสนุนให้ดูงาน-ฝึกงาน (ให้ นทร. ติดต่อต้นสังกัดโดยตรงเพื่อความรวดเร็ว)

     3. จะต้องเป็นการฝึกงานหรือดูงาน ในประเทศที่ศึกษา

     4. ระยะเวลาฝึกงานหรือดูแลไม่เกิน 3 เดือน

     5. สำหรับ นทร. ที่ใช้เวลาศึกษาล่าช้ากว่าระยะเวลาที่ ก.พ. กำหนด สำหรับการศึกษาชั้นปริญญาโทหรือเอก อาจจะไม่ได้รับการพิจารณาให้ดูงาน-ฝึกงานหลังจากสำเร็จการศึกษา

     6. นทร. จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฝีกงานหรือดูงานเอง

     การขอฝึกอบหรือดูงานหลังสำเร็จการศึกษาจะต้องแนบเอกสารประกอบการพิจารณา ดังนี้

     ขอฝึกอบรม

     1. แบบคำขอแจ้งความประสงค์ขอฝึกอบรม พร้อมเหตุผล

     2. จดหมายเห็นชอบ และรับรองการฝึกงานจากอาจารย์ที่ปรึกษา โดยระบุช่วงเวลาที่จะไปฝึกอบรมโดยสังเขป

     3. จดหมายจากสถานศึกษา เนื้อความในจดหมาย เป็นเชิงที่รับรู้การไม่อยู่ (Absence) ชั่วคราวของ นทร. ซึ่งควรระบุช่วงระยะเวลาที่ นทร. ไม่ได้อยู่ ณ สถานศึกษานั้น ๆ ทั้งนี้เมื่อเกินเหตุจำเป็นหรือเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น จะได้ทราบการเคลื่อนไหวของ นทร. ได้โดยมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร

     4. รายละเอียดโครงการฝึกอบรม เช่น สถานที่ ระยะเวลาการฝึกอบรมชัดเจน

     ดูงานหลังสำเร็จการศึกษา

     1. แบบคำขอแจ้งความประสงค์ขอดูงานหลังสำเร็จการศึกษา พร้อมเหตุผล

     2. จดหมายตอบรับเข้าดูงานหรือสัญญาดูงาน โดยระบุเวลาชัดเจน และมีโครงการดูงานชัดเจน

     3. ผลการศึกษาฉบับล่าสุด

แบบคำขอแจ้งความประสงค์ขอฝึกอบรม/ดูแลหลังสำเร็จการศึกษา

     นทร. จะไปรับทุนอื่นซ้อนอีกมิได้เว้นแต่ทุนที่ได้นั้นเป็นทุนอันเนื่องจากผลการศึกษาที่ นทร. ผู้นั้นเรียนดีเด่นจนมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอื่นได้มอบทุนให้ และการรับทุนนั้นไม่มีข้อผูกพันอันจะทำให้การศึกษาของ นทร. นั้นผิดไปจากแนวการศึกษาเดิม อีกทั้ง นทร. จะต้องรับค่าใช้จ่ายประจำเดือนและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามระเบียบนักเรียนทุนรัฐบาล ทั้งนี้จะต้องดำเนินการยื่นเรื่องขออนุญาตรับทุนอื่น สนร. และหาก นทร. ได้รับเงินส่วนลดคืนจากสถานศึกษา นทร. จะต้องคืนให้แก่ทางราชการต่อไป 

     เมื่อ นทร. ใกล้สำเร็จ/เสร็จสิ้นการศึกษาหรือประสงค์ยุติการศึกษา นทร. จะต้องแจ้งกำหนดการเดินทางกลับประเทศไทยถาวรให้ สนร. ทราบ และขอเบิกค่าใช้จ่ายหลังเสร็จสิ้นการศึกษา โดยสามารถจัดส่งแบบคำขอเดินทางกลับประเทศไทยกรณีสำเร็จ/เสร็จสิ้นการศึกษา หรือยุติการศึกษา แบบคำขอจองตั๋วโดยสารเครื่องบิน ฯ แบบคำขอเบิกค่าใช้จ่ายหลังสำเร็จการศึกษา ฯ ให้ สนร. ทางอีเมล

     การจองตั๋วโดยสารเครื่องบิน กลับประเทศไทย มี 2 กรณี ดังนี้

     1. กรณี เดินทางด้วยสายการบินไทย สนร. จะดำเนินการจองตั๋วฯ สายการบินไทย (Thai Airways) ให้ โดย นทร. สามารถแจ้งความประสงค์มาทางอีเมล scholars@oeauk.net ในโอกาสแรกที่ทราบแผนการเดินทาง แต่ไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนวันเดินทางกลับประเทศไทยถาวร โดยระบุรายละเอียด ดังนี้

Title:

 

Name:

 

Surname:

 

Royal Orchid Number (ถ้ามี):

 

Travel Date:

 

Flight No.: เลือกระหว่าง TG911 หรือ TG917)

 

เมื่อ สนร. ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะจัดส่ง itinerary ให้ นทร. ทางอีเมล เพื่อให้ตรวจสอบรายละเอียด ได้แก่ ชื่อ-สกุล วัน-เวลาเดินทาง และเที่ยวบิน จากนั้นเมื่อ สนร. ได้รับแจ้งยืนยันการตรวจสอบรายละเอียดที่ถูกต้องแล้ว จะจัดส่ง E-ticket ให้ทางอีเมลของ นทร. ต่อไป

   ทั้งนี้ หาก นทร. แจ้งความประสงค์ขอจองตั๋วฯ กับ สนร. ล่าช้าไปกว่า 30 วัน และส่งผลให้ สนร. ไม่สามารถจองตั๋วฯ ในราคาตามหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายได้ นทร. มีความจำเป็นต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนต่างที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง และในกรณีที่ นทร. ประสงค์จะเปลี่ยนแปลงตั๋วฯ หลังจากที่ได้รับ E-ticket แล้ว เช่น เปลี่ยนเที่ยวบิน นทร. จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทุกรายการที่เกิดขึ้นด้วยตนเองด้วยเช่นกัน

      2.กรณี เดินทางด้วยสายการบินอื่น แบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้

      2.1 เดินทางออกจากสนามบินในกรุงลอนดอน นทร. ต้องจองตั๋วฯ ด้วยตนเอง และสามารถเบิกจ่ายได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 75% ของราคาตั๋วฯการบินไทย โดยอ้างอิงราคาที่ สนร. ได้รับจากบริษัทการบินไทย (แนะนำให้สอบถามเจ้าหน้าที่ สนร. ก่อนดำเนินการ) และส่งเอกสารประกอบการเบิกจ่าย ดังต่อไปนี้

  •  E-ticket ตั๋วโดยสารเครื่องบินที่เดินทางจริง
  • ใบเสร็จการชำระตั๋วโดยสารเครื่องบิน
  • Bank statement (หลักฐานการชำระเงิน)

      2.2 เดินทางออกจากสนามบินในเมืองที่ศึกษา หรือเมืองใกล้เคียง นทร. ต้องจัดทำข้อมูลตั๋วโดยสารเดินทางและจองตั๋วฯ ด้วยตนเอง โดยซื้อตั๋วฯ ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนวันเดินทางจริง เบิกจ่ายได้ตามที่จ่ายจริงแบบประหยัด โดยส่งเอกสารประกอบการเบิกจ่าย ดังต่อไปนี้

  • ข้อมูลเปรียบเทียบราคาตั๋วฯ ณ วันที่ดำเนินการจองตั๋วฯ 3 สายการบิน ในเส้นทางและวันเดินทางเดียวกัน
  • E-ticket ตั๋วโดยสารที่จองจริง
  • ใบเสร็จการชำระตั๋วเครื่องบิน
  • Bank statement (หลักฐานการชำระเงิน)

      ทั้งนี้ กรณีมีเหตุผลความจำเป็นไม่สามารถดำเนินการได้ตามแนวทางข้างต้น สนร. จะใช้ราคาตั๋วโดยสาร ณ วันที่ นทร. เดินทางจริงเปรียบเทียบกับราคาตั๋วโดยสารเครื่องบินในช่วงเดียวกันในปีถัดไป โดยจะเบิกได้ในฐานราคาที่ประหยัด

หมายเหตุ 

  • กรุณาวางแผนการเดินทางในการเดินทางมาขึ้นเครื่องบิน ณ เมือง London และตรวจสอบหลักเกณฑ์การเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่ (4) แบบคำขอเบิกค่าใช้จ่ายหลังสำเร็จการศึกษา/ยุติการศึกษา หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการจองตั๋วเดินทางระหว่างเมืองหรือการเบิกค่าใช้จ่าย สามารถติดต่อฝ่ายการเงินที่ 02078569479 หรือ finance@oeauk.net
  • กรุณาตรวจเช็ควันหมดอายุของหนังสือเดินทาง (Passport) ให้เรียบร้อยก่อนเดินทาง หากหนังสือเดินทางหมดอายุจะต้องรีบดำเนินการต่ออายุหนังสือเดินทางโดยด่วน
  • กรณีมีเหตุผลความจำเป็นไม่สามารถดำเนินการได้ตามแนวทางข้างต้นได้ ให้ติดต่อ สนร. เป็นรายกรณี

การแจ้งการเดินทางกลับประเทศไทยถาวร

  1. กรณี เสร็จสิ้นการศึกษา ตรวจสอบวันเดินทางกลับประเทศไทยถาวร ให้เป็นไปตามกฎการเดินทางกลับถึงประเทศไทย หากมีความไม่แน่ใจสามารถสอบถามเจ้าหน้าที่ฝ่ายการศึกษา
  • ระดับปริญญาตรี: เดินทางกลับถึงประเทศไทย ภายใน 20 วัน นับถัดจากวันที่ทราบผลการศึกษาอย่างไม่เป็นทางการ
  • ระดับปริญญาโท : กรณีที่ศึกษา ไม่เกิน 1 ปี* จะต้องเดินทางกลับถึงประเทศไทย ภายใน 10 วัน

                                 : กรณีที่ศึกษา เกิน 1 ปี ขึ้นไป* จะต้องเดินทางกลับถึงประเทศไทย ภายใน 20 วัน

     *โดยระยะเวลาที่ศึกษาจะเริ่มนับตั้งแต่ วันที่เดินทางมาถึงประเทศที่ศึกษาถึงวันที่ส่งวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ หรือวันสอบวันสุดท้าย หรือเสนอผลงานวันสุดท้าย ที่เป็นลำดับสุดท้าย (ไม่ใช่วันสิ้นสุดของหลักสูตรที่ระบุใน Offer Letter และกำหนดการส่งวิทยานิพนธ์)

  • ระดับปริญญาเอก: เดินทางกลับถึงประเทศไทย ภายใน 20 นับถัดจากวันที่สอบผ่าน VIVA โดยที่ไม่ต้องมีการแก้ไขวิทยานิพนธ์ หรือ หากต้องแก้ไขให้ถือวันส่งวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ เป็นวันเสร็จสิ้นการศึกษา

    เมื่อได้รับตั๋วเครื่องบินแล้ว กรุณาจัดส่งแบบคำขอเดินทางกลับประเทศไทยกรณีสำเร็จ/เสร็จสิ้นการศึกษา พร้อมเอกสารประกอบให้ สนร. ทางอีเมล ดังนี้

  • แบบคำขอเดินทางกลับประเทศไทยถาวรกรณีเสร็จสิ้นการศึกษา
  • ผลการศึกษาล่าสุด (สำหรับปริญญาตรีและปริญญาโท)
  • หลักฐานการส่งวิทยานิพนธ์ หรือ ตารางสอบ กรณีที่ไม่ได้ทำวิทยานิพนธ์ (สำหรับปริญญาโท)
  • หน้าปกและบทคัดย่อวิทยานิพนธ์ (สำหรับปริญญาโทและปริญญาเอก)
  • A proof of Thesis submission หรือหนังสือแจ้งผลสอบ Viva with minor corrections/without corrections (สำหรับปริญญาเอก)
  • แบบคำขอเบิกค่าใช้จ่ายหลังเสร็จสิ้น/ยุติการศึกษา ณ ต่างประเทศ พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง
  1. กรณี ยุติการศึกษา กรุณาติดต่อเจ้าหน้าฝ่ายการศึกษาเพื่อวางแผนวันเดินทางและดำเนินการขอยุติการศึกษาใน กรณี ดังต่อไปนี้
  • ระดับปริญญาโท: เดินทางกลับบประเทศไทยถาวรก่อนส่งวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ หรือวันสอบวันสุดท้าย หรือเสนอผลงานวันสุดท้าย
  • ระดับปริญญาเอก: ยังมิได้ส่งวิทยานิพนธ์ฉบับร่าง หรือยังมิได้สอบป้องกันวิทยานิพนธ์ หรือมีผลการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ต้องแก้ไขเกินกว่า 6 เดือน

เมื่อได้รับตั๋วเครื่องบินแล้ว กรุณาจัดส่งแบบคำขอเดินทางกลับประเทศไทยกรณี ยุติการศึกษา พร้อมเอกสารประกอบให้ สนร. ทางอีเมล ดังนี้

  • แบบคำขอเดินทางกลับประเทศไทยถาวร กรณียุติการศึกษา
  • เอกสารอาจารย์ที่ปรึกษา แจ้งกำหนดการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์โดยคร่าว /กำหนดการส่งฉบับร่าง/ กำหนดการแก้ไขวิทยานิพนธ์ เกิน 6 เดือน
  • เอกสารยืนยันการส่งวิทยานิพนธ์ฉบับร่าง (ถ้ามี)
  • สำเนาหน้าปกและบทคัดย่อวิทยานิพนธ์
  • แบบคำขอเบิกค่าใช้จ่ายหลังเสร็จสิ้น/ยุติการศึกษา ณ ต่างประเทศ พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง

แบบคำขอเดินทางกลับประเทศไทยกรณี สำเร็จ/เสร็จสิ้นการศึกษา

แบบคำขอยุติการศึกษา

แบบคำขอเบิกค่าใช้จ่ายหลังสำเร็จการศึกษา/ยุติการศึกษา (สำหรับนักเรียนทุนรัฐบาลและทุนอื่น ๆ)  

     เมื่อ นทร.แจ้งสำเร็จ/เสร็จสิ้นการศึกษาหรือยุติการศึกษา กับทาง สนร. เรียบร้อยแล้ว สนร. จะดำเนินการส่งเรื่องดังกล่าวไปยังสำนักงาน ก.พ. และแจ้งให้หน่วยงานต้นสังกัดรับทราบ ทั้งนี้ นทร. ทุกระดับการศึกษา เมื่อเดินทางถึงประเทศไทยแล้วต้องรายงานตัวกับสำนักงาน กพ ในโอกาสแรกที่จะกระทำได้ เอกสารรายงานตัวประกอบด้วย

     1. แบบรายงานตัวกลับจากต่างประเทศ (ของสำนักงาน ก.พ.)

     สำหรับการรายงานตัวเข้าปฏิบัติราชการ นักเรียนทุนรัฐบาลที่มีสถานะเป็นข้าราชการจะต้องรายงานตัวกลับเข้าปฏิบัติราชการในวันที่ถัดไปจากวันที่เดินทางถึงประเทศไทย (กรุงเทพมหานครฯ และปริมณฑล) และรายงานตัวกลับเข้าปฏิบัติราชการในวันที่ 2 นับจากวันเดินทางกลับประเทศไทย (ต่างจังหวัด)

แบบรายงานตัวกลับจากต่างประเทศ (สำนักงาน ก.พ.)

 

     นทร. จะต้องรีบรายงานให้ สนร. ทราบทันทีที่จะกระทำได้ ในกรณีที่ไม่อาจรายงานด้วยตนเองได้ ควรให้เพื่อนหรือผู้ที่รู้จักแจ้ง สนร. เพื่อที่ สนร. จะได้ให้ความช่วยเหลือและประสานงานได้ทันท่วงที

     นทร. จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับ ก.พ. ว่าด้วยการจัดการการศึกษาควบคุมดูแล และการให้ความช่วยเหลือบุคลากรภาครัฐ และนักเรียนที่อยู่ในความดูแลของ ก.พ. ในต่างประเทศ พ.ศ. 2551 โดยเคร่งครัด ในกรณีที่ นทร. รายใดฝ่าฝืนข้อบังคับดังกล่าว หรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบ หลักเกณฑ์อื่นใดของสำนักงาน ก.พ. เช่น ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ สนร. ไม่ยอมรายงานหรือ ส่งเอกสารหรือคำชี้แจงให้ สนร. หรือกระทำผิดวินัย สนร. จะทำการสอบสวนข้อเท็จจริง ถ้าปรากฏว่า นทร. มีเจตนาฝ่าฝืนระเบียบโดยไม่มีเหตุผลสมควร สนร. จะดำเนินการทางวินัยอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

     1. ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร

     2. ชะลอการจ่ายเงินค่าใช้จ่ายประจำเดือน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามที่สำนักงาน ก.พ. เห็นสมควร

     3. ให้คืนเงินค่าใช้จ่ายที่ได้รับไปโดยไม่มีสิทธิ์แก่ทางราชการ

     4. ให้ยุติการศึกษา และเดินทางกลับประเทศไทย

     5. แจ้งให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานต้นสังกัด ดำเนินการทางวินัย

หมายเหตุ หากมีข้อสงสัยหรือต้องการคำแนะนำอื่น ๆ นทร. สามารถติดต่อสอบถามได้ที่เจ้าหน้าที่ สนร. หรือเจ้าหน้าที่ สำนักงาน ก.พ.